วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

Pornography หนังสือต้องห้าม

ในบทความนี้จะขอใช้คำว่า “Pornography” ทั้งหมด เนื่องจากนิยามของคำว่า “สื่อลามกอนาจาร” ในภาษาไทยมีความหมายรวมไปถึง “Obscenity” และ “Nude” รวมทั้งสิ่งที่อุจาดหรือลามกอนาจารของเอเชียนั้น คือการกระทำของบุคคลในพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะสมหรือต้องห้าม ไม่ใช่คุณลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ติดกับภาพ, เสียง, หรือวัสดุอุปกรณ์ใดๆ (อ่านเพิ่มเติมที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2548 หน้า 30)

อันตรายจาก Pornography

Pornography นั้นมาจากภาษากรีกโบราณว่า Porne แปลว่า โสเภณี และ Graphos แปลว่า งานเขียน ดังนั้นPornography จึงหมายถึง งานเขียนที่พูดถึงโสเภณี หากแต่คำว่า Pornography ในความหมายเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงค.ศ. 1530 จากผลงาน Postures ของ Pietro Aretino จิตรกรชาวอิตาลีผู้แต่งกลอน วาดภาพ และแกะสลักเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศอย่างเปิดเผย ต่อมาพัฒนาการทางด้านการพิมพ์ การถ่ายภาพ ตลอดจนการผลิตภาพยนตร์ จึงทำให้สื่อที่นำเสนอเรื่องราวกิจกรรมทางเพศมีความละเอียดซับซ้อนและสมจริงมากยิ่งขึ้น[1] จนขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมและธุรกิจทางเพศที่มีผลประโยชน์และผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

การมอง Pornography เป็นภัย เกิดจากทัศนะที่ว่าเรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องสกปรกและอันตราย[2] เพศเป็นสิ่งชั่วร้าย (Original Sin) เพศเป็นสิ่งที่ทำให้อดัม (Adam) และอีฟ (Eve) ถูกพระผู้เป็นเจ้า ขับไล่ออกจากสวนอีเดน[3] เนื่องจากผู้หญิงได้ชักชวนให้ผู้ชายทำบาป เพราะความสวยของเธอ ผู้ชายจึงเปรียบเสมือนลูกแกะที่บริสุทธิ์แต่ต้องแปดเปื้อนด้วยน้ำมือของผู้หญิง ผู้หญิงสวยนั้นแท้จริงแล้วคือปีศาจ ความเป็นเพศหญิงจึงมีอำนาจในการหลอกลวง ความสวยงามของผู้หญิงเป็นต้นตอแห่งความชั่วร้าย สิ่งนี้เป็นสภาวะที่อดัมต้องเผชิญหน้ากับความสวยงามของอีฟที่เกิดขึ้นจากฝีมือของปีศาจ เมื่อความงามเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญ[4] หนทางแก้ไขก็คือการใส่เสื้อผ้าจึงมีไว้ปกปิดร่างกายที่แสนชั่วร้ายของมนุษย์ไม่ให้ออกมาสู่สายตาของผู้คน[5] โดยเฉพาะการควบคุมการแต่งกายของผู้หญิงให้ใส่ผ้าคลุมหรือคลุมทุกส่วนของร่างกายผู้หญิง เพราะแม้กระทั่งเท้าของผู้หญิงก็สามารถก่อให้เกิดความต้องการทางเพศขึ้นมาได้ ทำให้การเปิดเท้าจึงเท่ากับเป็นการเปิดอวัยวะเพศให้ผู้อื่นเห็นนั่นเอง[6]

กิจกรรมทางเพศที่เป็นบาปในสายตาของศาสนจักรมีสามระดับ ได้แก่ เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานและการข่มขืนเป็นบาปที่รุนแรงน้อยที่สุด เนื่องจากการกระทำดังกล่าวยังสามารถก่อให้เกิดการมีบุตรในที่สุด ความผิดระดับที่สอง คือ การคบชู้ในกลุ่มคนที่แต่งงานแล้ว และเพศสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติ ความผิดที่ร้ายแรงที่สุด คือ กิจกรรมทางเพศที่ไม่ก่อให้เกิดการสืบพันธุ์ เป็น “บาปที่ขัดต่อธรรมชาติ” ประกอบด้วย การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง การรักร่วมเพศ และการร่วมเพศกับสัตว์ การกระทำเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการต่อต้านพระเจ้า[7]

ขณะเดียวกัน การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองไม่เพียงแต่เป็นการทำบาปที่ขัดต่อธรรมชาติที่กระทำต่อตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นบาปที่กระทำต่อผู้อื่นด้วย เพราะในขณะที่กำลังสำเร็จความใคร่อยู่นั้น ผู้กระทำก็จะจินตนาการว่าได้ไปร่วมเพศกับบุคคลอื่นๆ การจินตนาการว่าได้ร่วมเพศกับผู้อื่นนั้นเท่ากับเป็นการทำบาปด้วยการเป็นชู้กับผู้อื่นในทางจินตนาการ การกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้ผู้อื่นสูญเสียพรหมจรรย์[8] ดังเช่น มาตรฐานของคริสต์ศาสนาในยุคกลาง ผู้หญิงที่บริสุทธิ์นั้นไม่ใช่เพียงแค่ผู้หญิงที่ไม่เคยร่วมเพศกับใคร แต่ผู้หญิงคนนั้นต้องไม่คิดและอยากที่จะร่วมเพศกับใคร รวมทั้งไม่เป็นที่ปรารถนาทางเพศของใครด้วย[9] ดังนั้น ไม่ว่าพฤติกรรมใดที่นำไปสู่การเกิดพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการมีลูกเพียงอย่างเดียวแล้วย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง[10] หากแต่ Pornography กลับเป็นสื่อที่เต็มไปด้วยการเปลือยกาย การแสวงหาความสุขทางเพศ และกิจกรรมทางเพศที่ไม่ได้นำไปสู่การมีลูกนั้น Pornography จึงเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและอันตรายอย่างยิ่ง

ในสายตาของพวกสตรีนิยม Pornography มิได้หมายความถึงสื่อที่แสดงให้เห็นถึงอวัยวะเพศหญิง หรือการร่วมเพศตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปแต่ประการใด หากแต่หมายถึงการทำลายสถานภาพและเกียรติภูมิของผู้หญิงที่ถูกลดระดับให้กลายเป็นแค่วัตถุที่พร้อมจะตอบสนองความรุนแรงที่ปรากฏออกมาในรูปแบบต่างๆ[11] ดังเช่น ภาพของนิตยสาร Hustler ในค.ศ.1977 ที่แสดงให้เห็นผู้หญิงที่ถูกจับใส่ลงไปในที่บดเนื้อ เหลือแต่สองขาโผล่ออกมา การแสดงออกในลักษณะดังกล่าวนี้ก็ถือว่าเป็น Pornography ที่จะนำไปสู่การกระตุ้นทางเพศได้[12]

Pornography คือภาพของผู้หญิงในรูปแบบที่ผู้ชายต้องการเห็น[13] ในฐานะวัตถุทางเพศ เพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้ชาย[14] สะท้อนเจตคติและความปรารถนาของผู้ชายที่มีต่อเรื่องเพศ[15] เป็นการกดขี่ทั้งระดับการเมืองและปัจเจก[16] รวมทั้งผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจทางเพศสภาพแบบชายเป็นใหญ่ หรือปิตาธิปไตย และเรียกสิ่งนั้นว่า “ความเป็นจริง” (The truth about sex)[17] เช่นเดียวกับที่ Andrea Dworkin เรียกสื่อลามกว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้หญิง” (Genocide against women)[18]

ผู้ชายที่บริโภค Pornography นั้นไม่ได้คิดเป็นเพียงแค่การจินตนาการเท่านั้น หากแต่นำไปสู่การปฏิบัติต่อผู้หญิงในโลกแห่งความเป็นจริงให้เหมือนผู้หญิงที่อยู่ใน Pornography[19] เช่น การใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ การข่มขืน ตลอดจนความรู้ความเข้าใจว่าเพศสัมพันธ์ คือ การถึงจุดสุดยอดของผู้ชายในตัวของผู้หญิงที่ตกเป็นเบี้ยล่าง[20] ดังนั้น ภาพของผู้หญิงที่ปรากฏในสื่อลามกจึงถูกมองว่าเป็นเหยื่อของการกดขี่ เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและการหลอกลวง โดยผู้หญิงจะไม่สมัครใจที่จะทำเช่นนั้นเอง[21]

ความเข้าใจว่าการข่มขืนเกิดจากสิ่งเร้าที่กระตุ้นความต้องการทางเพศของผู้ชาย ทำให้การควบคุมสื่อลามกเป็นเรื่องสำคัญ[22] เพราะสื่อเหล่านี้สร้างภาพผู้หญิงให้เป็นวัตถุทางเพศ[23] พวกสตรีนิยมจึงเห็นว่าสื่อลามกเป็นภาคทฤษฎี ส่วนการข่มขืนนั้นเป็นการปฏิบัติ[24] ดังเช่น Susan Brownmiller สรุปมายาคติในสังคมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อการข่มขืนไว้ว่า “ผู้หญิงทุกคนต้องการหรือมีความใฝ่ฝันที่จะถูกข่มขืน ไม่มีผู้หญิงคนไหนจะถูกข่มขืนได้ ถ้าผู้หญิงไม่ร่วมมือ ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดการข่มขืน”[25]

การข่มขืน แม้เป็นประสบการณ์เพียงครั้งเดียว แต่เหตุการณ์ครั้งเดียวนี้ได้รื้อทำลายพื้นฐานชีวิตของผู้หญิงที่ผ่านเหตุการณ์นั้นไปทั้งชีวิต บาดแผลทางจิตใจได้เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ เปลี่ยนทัศนะในการมองโลก เปลี่ยนการรับรู้เพศชาย และเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกทางเพศของผู้หญิงคนนั้นทั้งหมด[26] ผู้ชายใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือในการแสดงความมีอำนาจ กดขี่ และควบคุมผู้หญิง ด้วยการให้บทเรียนสั่งสอนให้ผู้หญิงรู้ว่า ถ้าผู้หญิงหัวแข็งไม่ก้มหัวให้ จะต้องถูกปราบแบบ “เหยื่อ”[27] การข่มขืนไม่ได้เกิดจาก “ปีศาจร้ายที่แฝงร่างอยู่ในตัวผู้ชายแต่ละคน” หากแต่เป็นเพราะ “ปีศาจร้ายของระบบที่ให้อำนาจชายเหนือหญิง” ที่แฝงอยู่ในโครงสร้างสังคม และปีศาจร้ายนี้พร้อมที่จะเข้าสิงร่างชายทุกคนไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาว มีอาชีพ อายุ หรือชั้นวรรณะใดก็ตาม หรือไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนชั่ว ผู้ชายทุกคนมีโอกาสที่จะถูกผีสิงและข่มขืนผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้าหรือคนคุ้นเคย และไม่ว่าจะในกาลหรือเทศะใดก็ตาม[28]

ขณะเดียวกัน การข่มขืนคือการโจรกรรมขนาดใหญ่ เพราะถ้าข่มขืนผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานเท่ากับว่าเป็นการขโมยพรหมจรรย์ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดในชีวิตไป หรือการข่มขืนผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว การข่มขืนนั้นคือการขโมยสิทธิผูกขาดในการมีเพศสัมพันธ์กับเธอของสามีไปด้วยเช่นกัน[29] ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจและการให้คุณค่าต่อตัวเองของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นผู้หญิงที่ดีในความหมายของการระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่ไม่ใช่สามี ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจึงถูกมองและมองตนเองว่าแปดเปื้อน มีราคี มีคุณค่าต่ำลง นอกจากนี้สิทธิในการเลือกว่าจะมีหรือไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับใคร และการเชื่อมโยงความรักกับการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของผู้หญิงส่วนใหญ่ ยังถูกสั่นคลอนทำลายไปเพราะการถูกบีบบังคับให้ร่วมเพศด้วย[30]

ทัศนะดังกล่าวนี้จึงทำให้พวกสตรีนิยมต่อต้าน Pornography และพวกกามวิตถาร เพราะกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องของผู้ชาย นอกจากนั้นเสรีภาพทางเพศที่ทำให้กิจรรมต่างๆ เหล่านี้งอกงามขึ้นล้วนแต่เป็นส่วนขยายของการได้เปรียบ หรือการมีอภิสิทธิ์ของผู้ชาย ขณะเดียวกัน ความคิดเห็นต่างๆ ในการต่อต้าน Pornography เหล่านี้จึงเท่ากับเป็นการส่งเสริมการมีศีลธรรมทางเพศแบบอนุรักษ์นิยมของคริสตศาสนาด้วยเช่นกัน[31]

Pornography และการขัดขืน

Pornography คือการแบ่งแยกเหยียดหยามและการใช้อำนาจ แสดงลักษณะมั่วสุม ไร้ระเบียบ ผิดที่ผิดทาง แสวงหาความสำราญทางเพศที่มีนอกเหนือจากสถาบันครอบครัว[32] โดยเนื้อหาของสื่อลามกที่ถูกมองว่าแปลกหรือไม่ปกตินั้น อาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งของความพยายามจะต่อสู้กับการจำกัดรูปแบบ และการแสดงออกเกี่ยวกับความพึงพอใจทางเพศของคนในสังคม ระบบความเชื่อ ความหมายเรื่องเพศที่ถูกควบคุมและจำกัดปริมาณ และรูปแบบของพฤติกรรมทางเพศของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงเท่านั้น แต่รูปแบบที่จำกัดนี้ไม่ครอบคลุมรสนิยมและความต้องการของคนจำนวนมาก[33]

สิ่งที่ปรากฏใน Pornography จึงอาจจะเป็นเพียงจินตนาการของคนในรูปแบบที่อยากทำ แต่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง และทำให้เส้นแบ่งเขตแดนของเพศสภาพและกฎเกณฑ์ทั้งหลายลางเลือนไป[34] เช่นเดียวกับในช่วงทศวรรษที่ 1960 การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อย ความเป็นเอกเทศของบุคคล[35] จากบรรทัดฐานของศาสนจักรและการแพทย์ที่นิยามโรคว่า “อาการบ้าที่เกิดจากการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง” (Masturbatory Insanity) ตามนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ Henry Maudsley ที่เกิดขึ้นในค.ศ.1868 เรื่อยมา จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1920 วงการแพทย์ตะวันตกจึงยอมรับว่าการสำเร็จความใคร่ไม่ได้เป็นอาการผิดปกติแต่อย่างใด[36]

Pornography จึงเป็นทางออกด้านหนึ่งของผู้หญิงจากการเปลี่ยนสถานะ “ผู้ขาย” หรือเป็น “วัตถุทางเพศ” มาเป็น “ผู้ซื้อ” และ “ผู้กระทำ” ในธุรกิจทางเพศ[37] โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภค Pornography สำหรับผู้หญิง หรืออุปกรณ์เพิ่มความสนุกสนานทางเพศ (Sex Toy) ทำให้หลุดพ้นและเป็นอิสระจากความสัมพันธ์กับผู้ชายเพียงอย่างเดียว หรือทำให้ผู้ชายเป็นทาสของผู้หญิงใน Pornography ประเภทซาดิสต์-มาโซคิสต์[38] ขณะเดียวกันก็ทำให้สิ่งพิมพ์และอุปกรณ์ต่างๆ ก้าวพ้นจากสิ่งลามกอนาจารกลายเป็นเรื่องของสุนทรียะ[39] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพศิลปะนั้น เป็นการนำเสนอสิ่งที่มากกว่าเนื้อหนังมังสา เพราะร่างกายนั้นไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า[40] และร่างกายนั้นไม่มีความต้องการทางเพศ[41]

Pornography จึงอาจจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการปลดปล่อยจินตนาการของมนุษย์ให้อิสระเสรีจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ในชีวิตจริง รวมทั้งการเชื่อมโยง Pornography เข้ากับความรุนแรงหรือการข่มขืนนั้น ยังเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย[42] ในเรื่องการผลิตซ้ำเรื่องความรุนแรงผ่านสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย หรือละครโทรทัศน์ที่ล้วนแต่มีความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคม เช่น การข่มขืนนางเอกของพระเอก ภายหลังนางเอกก็กลับมาตกหลุมรักคนที่ข่มขืนตนเอง ซึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการข่มขืนไปโดยปริยาย ตรงข้ามกับนางร้ายที่จะถูกใครก็ได้สักคนข่มขืน การข่มขืนนี้จึงเป็นการลงโทษทางสังคมทางสัญลักษณ์แก่ผู้หญิงชั่ว[43]

การควบคุม Pornography

การหาความสัมพันธ์ระหว่าง Pornography และการกระทำที่รุนแรงทางเพศนั้น เป็นสิ่งที่มีการถกเถียงกันอย่างมากเช่นเดียวกับประเด็นอื่นที่ยังไม่สามารถจะหาข้อยุติได้[44] เรื่องเพศกลายเป็นปัญหาสำคัญของรัฐชาติ เพราะเรื่องเพศสัมพันธ์ไม่ได้มีเพียงแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกิดและการตายเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของศีลธรรมอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นประชากรที่มีคุณภาพ[45]

ขณะเดียวกัน การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา Pornography ด้วยการออกกฎหมายควบคุมเพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพ ความสุข ความเจริญ ตลอดจนวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง[46] การควบคุม Pornography และเนื้อหาประเภทนี้จึงเป็นการบังคับให้คนอยู่ในร่องในรอยเรื่องเพศ โดยจำกัดความต้องการและรูปแบบความพึงพอใจของคนซึ่งแตกต่างหลากหลาย และเป็นการควบคุมแม้กระทั่งจินตนาการของมนุษย์[47] ทั้งนี้การอ้างถึงความจำเป็นในการควบคุมสื่อต่างๆ เหล่านี้นั้นย่อมจะส่งผลไปถึงปัญหาของการควบคุมสื่อทางการเมืองตลอดจนข่าวสารชนิดอื่นๆ ด้วย เหตุผลที่รัฐมักจะยกขึ้นมาอ้างก็เป็นกรอบความคิดอันเดียวกัน คือ ความสงบสุขและความมั่นคงของสังคม ดังนั้น ด้วยเหตุผลของความจำเป็นแห่งรัฐจึงต้องมีการควบคุมกิจกรรมที่เป็นภัยดังกล่าว[48] ดังเช่น การประกาศหนังสือต้องห้าม

การออกประกาศหนังสือต้องห้ามจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกิจคุณงามความดีสูงสุดของผู้ที่มีความจงรักภักดีในแผ่นดินและบ้านเมือง เนื่องจากผู้คนในบ้านเมืองมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของความรู้ สติปัญญา สถานภาพ อาชีพ และระดับจิตใจที่ประสงค์กระทำดีต่อรัฐ และสถาบันทางการเมืองที่ดำรงอยู่ภายในรัฐ ดังนั้น เพื่อการสกัดกั้นมิให้คนดีกลายเป็นคนเลว เพื่อไม่ให้คนเลวกลายเป็นคนเลวมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งเพื่อไม่ให้ความรู้ที่ไม่ถูกต้องคือมิจฉาทิฐิดำรงอยู่และแพร่กระจายออกไป อันจะกลายเป็นชนวนของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางตกต่ำในอนาคต การออกประกาศมิให้เอกสารดังกล่าวเป็นที่เผยแพร่ในหมู่สาธารณชนจึงได้ดำเนินไปด้วยความสมเหตุสมผล[49]

การควบคุมหรือการสนับสนุนให้ Pornography อยู่ในฐานะหนังสือต้องห้าม จึงยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าควรจะดำเนินการเช่นใดต่อไปภายใต้การต่อสู้เรื่องสิทธิของปัจเจกชน ผลกระทบต่อผู้อื่น และความมั่นคงของรัฐชาติ

ขณะเดียวกันการศึกษาเรื่อง Pornography ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญบนพื้นฐานความสัมพันธ์ชายหญิงมากกว่าเพศวิถีอื่น จนกลายเป็นความรู้ความเข้าใจที่มีต่อความสัมพันธ์ทางเพศไปทั้งหมด ดังคำกล่าว

ผมนึกถึงตัวอย่างอคติทางเพศที่มีในงานวิชาการ แล้วไปมีผลต่อชีวิตคนได้อีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือเรื่องกามารมณ์ เคยสังเกตไหมครับว่า ส่วนใหญ่ของหนังสือโป๊ (ทั้งบนแผงและใต้แผง) ทำขึ้นเพื่อผู้ชาย ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเป็นอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของตลาด ยิ่งพลิกไปดูเนื้อหา ยิ่งพบว่าผู้หญิงในหนังสือโป๊มักไม่มีตัวตน หมายความว่าเป็นฝ่ายถูกกระทำและตอบสนองความปรารถนาของผู้ชายหมด หล่อนไม่มีความประสงค์, ความชอบ, รสนิยม หรือ “กามวิตถาร” ของตนเองเลย ทั้งนี้ เพราะความรู้ความเข้าใจของเราที่มีต่อกามารมณ์นั้นเป็นข้อสังเกตและศึกษาจากผู้ชายทั้งสิ้น แล้วแพร่อคตินี้ผ่านหนังสือโป๊, นวนิยาย, ละครทีวี, วิชาเพศศึกษา, ฯลฯ จนกลายเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ... เหตุดังนั้น ผู้หญิงที่อยากอ่านหนังสือโป๊หรือดูหนังโป๊ จึงต้อง “อาศัย” สินค้าที่ผลิตขึ้นจากมุมมองของเพศชายเท่านั้น ซึ่งยิ่งตอกย้ำความไม่มีตัวตนของผู้หญิงในกามารมณ์มากขึ้นไปอีก กลายเป็นวัฒนธรรมทางกามารมณ์ที่เพศหญิงรับเอาไปเป็นของตัวโดยปริยาย

นิธิ เอียวศรีวงศ์[50]

ขณะเดียวกัน Pornography ที่มีเพศวิถีแบบอื่นนอกจากความสัมพันธ์ชายหญิงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Pornography สำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจางหายไป Pornography ที่สร้างขึ้นมาโดยเพศวิถีต่างๆ จึงล้วนแต่มีความสำคัญในการช่วงชิงพื้นที่สาธารณะและภายในเพศสภาพเดียวกัน เช่น หญิงรักหญิง กับ หญิงรักชาย ว่าเพศวิถีของตนเองดำรงอยู่ และสิ่งเหล่านี้เป็นทางเลือกในการผลิตความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ของตนเองที่แตกต่างจากความสัมพันธ์ชายหญิง[51]

เอกสารอ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ. 2543. ความเรียงว่าด้วยสตรีกับสื่อมวลชน. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. 2539. ข่มขืน: ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย. รัฐศาสตร์สาร. 19,3: 161-183.

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. 2544. โลกานุวัตรกับเซ็กส์ที่ชอบธรรม: พันธนาการที่ไร้พรมแดน. ใน เซ็กส์ข้ามชาติ เซ็กส์อินเตอร์เน็ต. โครงการวิถีทรรศน์. หน้า 177 – 190. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

ธเนศ วงศ์ยานนา. 2529-2530. บทส่งท้ายตระกะของการกดบังคับ: ฟูโก้และเฟมินิสต์. รัฐศาสตร์สาร ฉบับพิเศษ: ปรัชญาและความคิด. 12-13: 166-178.

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2541. ผู้หญิงและอำนาจ: การเขียนแบบผู้ชาย. ใน สตรีศึกษา1: ผู้หญิงกับประเด็นต่างๆ. คณะอนุกรรมการการศึกษา อาชีพ และวัฒนธรรม คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี. หน้า 165 – 215. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2547. การจัดระเบียบเพศในศิลปะ: จากภาพนู้ดสู่ภาพระดับX. รัฐศาสตร์สาร. 25, 2: 204-223.

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2549. (การร่วม) เพศนอกสถาบันการแต่งงานในฐานะ ‘ระเบิด’: จากประวัติศาสตร์ ‘การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง’ ถึง ‘เพศศึกษา’ ... เมื่ออุดมการณ์ประสานกับวิทยาการทางแพทย์. รัฐศาสตร์สาร. 27, 3: 1-55.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และบุศรินทร์ โตสุขุมวงศ์. 2539. พิเคราะห์หนังสือต้องห้ามของไทย. รัฐศาสตร์สาร. 19, 3: 110-138.

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. 2545. ตำนานสวนสาธารณะกับเรื่องเล่าของชาวเกย์กรุงเทพในพรมแดนเทคโนโลยีสื่อสาร. รัฐศาสตรสาร. 23, 1: 77-116

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. 2547. เปลือยนายแบบ: หนังสือโป๊และกามารมณ์ในชีวิตเกย์ไทย. รัฐศาสตร์สาร. 25, 2: 165-203

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2545. ว่าด้วย “เพศ”: ความคิด ตัวตน และอคติทางเพศ ผู้หญิง เกย์ เพศศึกษา และกามารมณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2548. ลามกอนาจาร. มติชนรายสัปดาห์. 25, 1285: 30

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2549. วิกฤตเสื้อคับ. มติชนรายสัปดาห์. 26, 1356: 33

สมสุข หินวิมาน. 2545. ละครโทรทัศน์: เรื่องของ “ตบๆ จูบๆ” และ “ผัวๆ เมียๆ” ในสื่อ “น้ำเน่า” ใน สื่อบันเทิง: อำนาจแห่งความไร้สาระ. หน้า 173-247. ออล อเบ้าท์ พริ้นท์

Cowie, Elizabeth. 1993. Pornography and Fantasy: Psychoanalytic Perspective. In Sex Exposed: Sexuality and the Pornography Debate. Pp.132-152. Rutgers University Press

MacKinnon, Catharine. 1992. Pornography, Civil Rights, and Speech. In Feminist Philosophies: Problems, Theories, and Applications. Pp.295-308. New York: Prentice Hall.

McElroy, Wendy. 2006. Michel Foucault and Pornography [Online]. Available from: http://www.zetetics.com/mac/eris.html [2006, Apr 20]

Mcnair, Brain. 1996. Mediated Sex: Pornography and Postmodern Culture. A Hodder Arnold Publication


[1] นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2547: 166-167

[2] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 168

[3] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2549: 17

[4] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 182

[5] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 182; 2549: 17

[6] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 182

[7] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 198-199

[8] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2549: 22

[9] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 191, 193; 2549: 22

[10] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 183

[11] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 167-168; MacKinnon, 1992: 299-300; McElroy, 2006: 6

[12] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 167-168

[13] MacKinnon, 1992: 297-300

[14] Cowie, 1992: 132

[15] Cowie, 1992: 132; นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2547: 168

[16] McElroy, 2006: 2

[17] MacKinnon, 1992: 297-300

[18] McElroy, 2006: 3

[19] MacKinnon, 1992: 301

[20] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2531: 174-175; MacKinnon, 1992: 304

[21] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2544: 188;นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2547: 169

[22] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2539: 164

[23] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2539: 174

[24] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 167-168

[25] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2539: 166

[26] กาญจนา แก้วเทพ, 2543: 120

[27] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2539: 168; กาญจนา แก้วเทพ, 2543: 130

[28] กาญจนา แก้วเทพ, 2543: 130

[29] นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2545: 75

[30] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2539: 170

[31] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 168-169

[32] Mcnair, 1996: 91; นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2547: 168-169

[33] Cowie, 1993: 137; ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2544: 188; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2547: 222

[34] Cowie, 1993: 137; ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2544: 188; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2547: 222

[35] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2549: 42-44

[36] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2549: 40

[37] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 169; 2549: 42-44

[38] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 169; 2549: 42-44; Mcnair, 1996: 91, 96

[39] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 169; 2549: 42-44; Mcnair, 1996: 91

[40] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 207

[41] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 210

[42] นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2549: 33

[43] สมสุข หินวิมาน, 2545: 214-215

[44] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 168; ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2544: 188

[45] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2549: 2

[46] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 168

[47] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2544: 188

[48] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 168

[49] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และบุศรินทร์ โตสุขุมวงศ์, 2539: 126-127

[50] นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2545: 54-55

[51] Mcnair, 1996: 100-101

 

งานชิ้นนี้เป็นงานในช่วง 2549 ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับการอ้างอิง แต่เหมาะสำหรับการอ่านเบื้องต้น ก่อนไปหาต้นฉบับมาอ่านเพิ่มเติมเท่านั้น เนื่องจากมีผลงานวิชาการหลายชิ้นที่น่าสนใจออกมาภายหลังงานชิ้นนี้จำนวนมาก

ขณะเดียวกันบทความนี้เคยอัพขึ้นนานแล้ว แบบไม่มีอ้างอิงเชิงอรรถ ด้วยความกลัวว่าจะถูกนำไปใช้ หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป ไฟล์เดิมหาย แต่ยังดีที่หาแบบ Hard Copy ได้ เลยมานั่งพิมพ์เชิงอรรถเพิ่ม และได้เพิ่มบางส่วนจากเดิมด้วย ดังนั้นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะไม่เกิดกรณีที่ทำให้ต้องลบออกเฉกเช่นบทความอื่น