วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติหรือสุสานทางปัญญา โดย ยศ สันตสมบัติ

ระบบการศึกษาของเมืองไทยเวลานี้ กำลังเผชิญหน้ากับสภาวะวิกฤติ หลงทาง ไร้วิสัยทัศน์ จุดยืนและปรัชญาการศึกษาที่ชัดเจน  โรงเรียนกลายมาเป็นสนามสอบ โรงกวดวิชา เรียนข้อสอบเพื่อแข่งกันเข้ามหาวิทยาลัย แต่สถาบันการศึกษาชั้นสูงที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยนั้นกลับแปรสภาพจากแหล่งผลิตความรู้และปัญญามาเป็นเพียงโรงฝึกอาชีพ โรงเรียนเทคนิค และแห่งรวมของหลักสูตรฟอกคน ตั้งแต่การฟอกบุคคลสามัญยันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและรัฐมนตรี มหาวิทยาลัยหลายแห่งขยายวิทยาเขตหรืออาณาจักรของตนเองอย่างสนุกสนาน และมองด้วยวิธีคิดแบบทุนนิยมรุ่นเก่าว่าการขยายตัวคือความสำเร็จ อาจารย์มหาวิทยาลัยมากมายทำงานเหมือนครูประชาบาล สอนตั้งแต่เช้ายันค่ำ โดยแทบไม่มีเวลาว่างเว้น ยิ่งเสาร์อาทิตย์ยิ่งเป็นเวลาขุดทอง ด้วยการสอนหลักสูตรภาคพิเศษราคาแพงระยับโดยมีหลักการตามภาษิตใหม่ที่ว่า “หากจ่ายครบ (มึง) จบแน่”  


หลักสูตรต่างๆเหล่านี้เน้นการให้ปริญญาชั้นสูง โดยเฉพาะมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต  แต่ปริญญาเหล่านี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างความรู้และสติปัญญาให้กับทั้งผู้สอนและผู้เรียน การทำวิทยานิพนธ์ก็เลือกกันได้ตามใจชอบ จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ หรือจะทำเป็นบทความขนาดใหญ่ที่เรียกว่าสาระนิพนธ์ (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีสาระ) ก็แล้วแต่ความพอใจ บางหลักสูตรอาการหนักถึงกับสามารถทำวิทยานิพนธ์หรือสาระนิพนธ์เป็นกลุ่ม คือนักเรียนฝูงหนึ่งทำงานชิ้นเดียวก็จบได้ และหลายแห่งก็มีบริการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จสรรพ สนนราคากำหนดไว้ตามแต่ความยากง่ายของประเด็นและหัวข้อวิทยานิพนธ์ การเก็บวิเคราะห์ข้อมูลและการเขียนรายงานออกมาเป็นรูปเล่ม วิทยานิพนธ์และสาระนิพนธ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่ไปกองเป็นเศษกระดาษอยู่ตามหิ้งในห้องสมุด ไม่เคยมีใครยืมออกไปใช้อ่านหรือทำประโยชน์อะไร ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือหรือบทความในวารสารระดับนานาชาติ เพราะงานเหล่านี้ ไม่ได้ผลิตความรู้อะไรใหม่ ไม่มีข้อค้นพบใดสมควรแก่การพูดถึง แต่เป็นเพียง “งาน” ที่สำรอกส่งไปเพื่อให้ครบตามเกณฑ์สำหรับอนุมัติปริญญาเท่านั้น


ยิ่งมหาวิทยาลัยถูกแรงกดดันให้ออกนอกระบบ ตั้งแต่สมัยสัญญาทาสไอเอ็มเอฟของท่านนายกฯชวน ทางเลือกและวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยไทยก็ดูเหมือนจะหดแคบลง เช่นเดียวกับสติปัญญาของผู้คนในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มขึ้นค่าเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ในรูปของเงินบำรุงพิเศษและค่าธรรมเนียมอื่นๆจิปาถะ บางแห่งจับนักศึกษาทดสอบภาษาอังกฤษเพียงเพื่อจะเก็บเงินค่าสอนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม มิใช่เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกภาษาให้แตกฉานจะได้อ่านวารสารต่างประเทศได้เข้าใจ

มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มสร้างจุดขายใหม่ๆ สร้างหลักสูตรใหม่ๆ ที่เก๋ เท่ จบง่าย รายได้ดี เป็นแรงจูงใจให้ “ลูกค้า”  เร่กันเข้ามาซื้อปริญญา  ยิ่งนานวันเข้า มหาวิทยาลัยและคณาจารย์ที่สอนในหลักสูตรภาคพิเศษเหล่านี้ ก็ค่อยๆกลายสภาพมาเป็นเครื่องจักรสอนหนังสือ สอนเรื่องเดิมๆ ประเด็นเดิมๆ แนวคิดเก่าๆ เพราะผู้มาเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจความรู้ แต่ต้องการมาชุบตัว คนสอนก็ไม่ได้สอนด้วยใจรักแต่สอนเพราะถูกบีบบังคับ เกรงใจเพื่อน หรือบ้างก็สอนเพราะรายได้ดี


เงิน พลังงาน เวลาและทรัพยากรมากมายที่สิ้นเปลืองไปในการเรียนการสอนหลักสูตรพิเศษต่างๆ จึงไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้ ไม่ได้เสริมสร้างสติปัญญา ไม่ได้นำเสนอนโยบายหรือทางเลือกใหม่ให้กับสังคมแต่ประการใด งานวิจัยใหม่ๆเริ่มหายากมากขึ้นทุกวัน เพราะผู้คนในมหาวิทยาลัยเหนื่อยล้าไปกับการสอน การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติเป็นเพียงฝันสวยตรงปลายรุ้งที่จะเลือนหายไปหลังฟ้าเปิด ระบบการศึกษากลายเป็นเพียงปาหี่ ละครน้ำเน่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งแขวนป้ายขายปริญญาราวกับร้านโชห่วย หรือห้างสรรพสินค้าที่ลดแลกแจกแถมแข่งกันสนั่นเมือง  ในท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้เอง ที่ความเขลากลับเจริญงอกงาม บัณฑิต มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตเดินกร่างกรุยกรายกันเกลื่อนถนน แกล้งทำเป็นผู้รู้ ผู้มีวิทยฐานะสมควรแก่ปริญญาเหล่านั้นทุกประการ


สังคมไทยจึงกระเดียดไปเป็นสังคมที่หยุดสร้างองค์ความรู้ และไม่ใช่สังคมเรียนรู้ และเมื่อสังคมหยุดเรียนรู้ เผด็จการอำนาจนิยม การผูกขาดข้อมูลข่าวสาร การคอรัปชั่นทางนโยบายและความฉ้อฉลต่างๆก็เพิ่มพูนขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยผลิตแต่ศรีธนญชัยที่ฉลาดแกมโกง เก่งเอาตัวรอด และมุ่งหวังกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ แต่ไม่ได้มีสำนักในพันธะทางสังคมเฉกเช่นผู้มีการศึกษาที่แท้จริงพึงมี สังคมไทย ตั้งแต่ท่านผู้นำลงมาสู่ผู้บังคับบัญชากระจอกงอกง่อยในมหาวิทยาลัยอย่างเช่นหัวหน้าสาขาหรือภาควิชา ล้วนแล้วแต่ขาดวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ ใครบังอาจมาวิพากษ์หรือแข็งขืนจะถูกมองเป็นศัตรู คู่แข่ง ขาประจำ คนเหล่านี้มุ่งทำลาย คนเหล่านี้โง่เขลา ขาดข้อมูล มองปัญหาเพียงด้านเดียว ฯลฯ จนกลายมาเป็นสูตรสำเร็จเพื่อตอบโต้แทนที่จะน้อมรับคำวิจารณ์เหล่านั้นอย่างเช่นผู้มีปัญญาพึงกระทำ


ในขณะที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ระบบการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นบนเวทีโลก มหาวิทยาลัยซึ่งควรเป็นขุมกำลังแห่งปัญญาในการแสวงหาทางเลือก ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตพลเมืองที่มีคุณภาพและมีคุณธรรม กลับแปรสภาพไปเป็นสุสานแห่งปัญญา
   

ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยของรัฐในฐานะที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ ยังถูกกดทับด้วยแนวทางและหลักเกณฑ์ตามมาตรการพัฒนา และบริหารกำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการ หรือพูดเป็นภาษาคนให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ถูกลดอัตรากำลังลง ด้วยการเชิญให้เกษียณอายุก่อนกำหนดสองครั้ง  และเมื่อยังไม่บรรลุเป้า ก็มีการสร้างหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัย เป็นมาตรการที่สาม ซึ่งก่อให้เกิดความระส่ำระสายให้กับผู้คนในสาขาที่ไม่ขาดแคลนตามสมควร บางคนมีความรู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องสอนมากขึ้น ต้องหาเงินหรือสร้างหลักสูตรใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น แต่ระบบการประเมินที่ทางราชการและมหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังใช้อยู่ในเวลานี้ มิได้ช่วยให้การทำงานของระบบราชการและมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพหรือคุณภาพเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
   

ในทางตรงกันข้าม ระบบพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคนิควิทยาแห่งอำนาจ หรือกลไกในการควบคุมบังคับระบบราชการให้อยู่ภายใต้ชะเงื้อมของนักธุรกิจการเมืองอย่างเชื่องเชื่อ ระบบการประเมินคุณภาพดังกล่าวมาพร้อมกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ และกระบวนการครอบงำของระบบทุนนิยมผูกขาดเหนือระบบราชการและมหาวิทยาลัยไทย 

บทเรียนจากอังกฤษ

ในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาชั้นสูงที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังของประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆอีกมากมายหลายแห่งในสังคมตะวันตก ถูกถีบเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปหรือการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อคุณภาพการศึกษาและการทำงานของมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์สติปัญญาของสังคม ในบ้านเรา กระบวนการปรับเปลี่ยนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังฟองสบู่แตก และรัฐบาลชวนเซ็นสัญญาทาสกับไอเอ็มเอฟ โดยเงื่อนไขหนึ่งในสัญญานั้น คือ การปรับโครงสร้างของสถาบันการศึกษาไทยซึ่งเรียกกันติดปากเรื่อยมาว่า “การออกนอกระบบ” ราชการ มาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
   

องค์ประกอบสำคัญของการปฏิรูปมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นในอังกฤษ และกำลังได้รับการลอกเลียนแบบในบ้านเรา ก็คือ การนำเสนอ “ระบบประกันคุณภาพ” หรือกลไกสำหรับการประเมิน ปริมาณงาน คุณภาพของการสอน การทำวิจัย และประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กร สาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัยทั้งระบบ กลไกการประเมินคุณภาพดังกล่าวได้รับการนำเสนอในฐานะเป็นหลักประกัน “พันธกิจ” (accountability) หรือพันธะรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย (และหน่วยงานราชการอื่นๆ) ต่อสังคม หลักการดังกล่าวข้างต้น เป็นเงื่อนไขหรือเหตุผลในการผลักดันการปฏิรูปบนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่า หน่วยงานใดก็ตามที่นำเอาภาษีอากรของประเทศชาติมาใช้ จะต้องมีพันธะรับผิดชอบต่อสาธารณชน  การประเมินประสิทธิภาพและคุณภาพของการทำงานของมหาวิทยาลัยดำเนินไปภายใต้กรอบของ “การเพิ่มประสิทธิภาพ” และ “คุณภาพ” ในการทำงาน ตลอดจน การมี “อิสระ” ในการบริหารจัดการ ซึ่งฟังดูราวกับว่ากลไกต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยกลายมาเป็นองค์กรอิสระ หลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของระบบราชการ เปลี่ยนจากความเชื่องช้าอุ้ยอ้ายในการบริหารจัดการ ไปสู่ความฉับไว ทันสมัย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสาธารณชนได้อย่างแท้จริง
   

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากการถูกถีบออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในประเทศอังกฤษ ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบบประกันคุณภาพ หรือกลไกการประเมินประสิทธิภาพบนฐานของพันธกิจต่อสังคม มิได้ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรมหาชนและมีพันธะรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ระบบประกันคุณภาพ และการบริหารอัตรากำลังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัย กลับกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ กลไกในการกำกับและตรวจสอบ การทำงานของมหาวิทยาลัยให้อยู่ภายใต้ชะเงื้อมของนักธุรกิจการเมืองอย่างเชื่องเชื่อ ระบบการประเมินคุณภาพดังกล่าวนั้น ลดศักดิ์ศรีและคุณค่าของมหาวิทยาลัย จากแหล่งผลิตความรู้ พื้นที่ของปัญญาชน และเวทีการต่อสู้ทางการเมือง ให้กลายมาเป็นเพียงการจัดความสัมพันธ์ระหว่าง “พนักงานของมหาวิทยาลัย” ที่ถูกประเมินบนพื้นฐานของแบบฟอร์มที่สร้างขึ้นอย่างหยาบๆ ปรับเปลี่ยนคุณภาพของงานให้กลายเป็นเพียงตัวเลขเชิงปริมาณอย่างมักง่าย อีกทั้งยังมีการนำเสนอมาตรการลงโทษบุคลากรที่ทำงานไม่เข้าตา “เจ้านาย” หรือผู้บริหาร มาตรการดังกล่าวเป็นเทคนิควิทยาแห่งอำนาจ ซึ่งมาพร้อมกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ และกระบวนการครอบงำของระบบทุนนิยมผูกขาดเหนือมหาวิทยาลัย
   

แน่นอน มหาวิทยาลัยเป็นเพียงพื้นที่หนึ่งหรือหน่วยงานหนึ่ง ที่ซึ่งแนวคิดและปฏิบัติการของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เริ่มแทรกตัวเข้ามาครอบงำและปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานและตัวแบบของ ระบบการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นและดำเนินมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้แนวคิดแบบรัฐสวัสดิการ  ลัทธิเสรีนิยมใหม่รื้อถอนแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการด้วยการปฏิเสธระบบราชการว่าด้อยประสิทธิภาพกว่าภาคเอกชน ผลักดันแนวคิดเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นๆของรัฐให้เข้าสู่ตลาดหุ้น หรือแปรสภาพกลายเป็นองค์กรมหาชน ภายใต้หลักการของทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย
   

เทคนิควิทยาแห่งอำนาจที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่นำมาใช้อย่างได้ผลในประเทศอังกฤษ และกำลังถูกลอกเลียนอยู่ในประเทศไทย  คือ การนำเสนอแนวคิดเรื่อง “การตรวจสอบ” (ภายใต้ภาษาของการประเมินคุณภาพ) ให้มีความหมายในเชิงบวก และกลายมาเป็นภาษาใหม่ที่ให้ความรู้สึกดีๆเช่นเดียวกับคำว่า “โปร่งใส”   “การกระจายอำนาจ” และ “ธรรมาภิบาล” เป็นต้น
   

หากเราย้อนกลับไปดูรากศัพท์ของคำว่า “ตรวจสอบ” (audit) ในภาษาอังกฤษนั้น มีความหมายอยู่ 5 ประการด้วยกัน ประการแรก หมายถึงการตรวจสอบบัญชี สถานะการเงิน ประการที่สอง หมายถึง  ข้อตกลงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวระหว่างเจ้าที่ดินกับชาวนา ประการที่สาม หมายถึงการพิจารณาหรือยืนยันอย่างเป็นทางการ ประการที่สี่ หมายถึง การรับฟัง การไต่สวนและการพิจารณาความ และประการที่ห้า หมายถึงการหาข้อตกลงหรือคิดบัญชี  ความหมายทั้งห้าประการดังกล่าวของคำว่า “ตรวจสอบ” มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า ‘audire’ ซึ่งแปลว่า การได้ยินหรือรับฟัง ความหมายทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึง การพิจารณา การไต่สวน และการพิพากษา ซึ่งในทางอุดมคติแล้วควรเป็น “กระบวนการสาธารณะ” ที่กระทำอย่างเปิดเผย หากแต่โดยเนื้อแท้ความจริงแล้ว ระบบตรวจสอบในนามของการประเมินคุณภาพ กลับมีลักษณะที่ละม้ายเหมือน กระบวนการประชาพิจารณ์ที่เราคุ้นเคยกัน ในด้านหลักการ ประชาพิจารณ์หมายถึงการรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อนตัดสินใจอนุมัติโครงการ แต่ในบ้านเรา ประชาพิจารณ์ทำหลังอนุมัติโครงการไปแล้ว  ระบบตรวจสอบในนามของการประเมินคุณภาพ ยังมีนัยของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบอุปถัมป์ หรือความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือไม่เคยมีนัยสำคัญมากนักในรอบรั้วของมหาวิทยาลัย ระบบตรวจสอบหรือการประเมินคุณภาพกลายมาเป็นการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ตรวจสอบและผู้ถูกตรวจสอบ ผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน  การประเมินทำให้ “บุคลากร” กลายเป็น “จำเลย” ที่ถูกไต่สวน พิจารณา และพิพากษา  โดยผู้ประเมินกลายเป็นทั้งตำรวจ อัยการและศาลไปพร้อมกัน
   

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ระบบตรวจสอบเริ่มถูกเคลื่อนย้ายจากภาคการเงินการธนาคาร มาสู่ปริมณฑลใหม่ๆของสังคม  ภายใต้ภาษาของการประเมินคุณภาพ และกลายมาเป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพ ประสิทธิภาพ และความโปร่งใสในทุกแวดวงของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบราชการและการเมือง ด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดมีการประเมินการสอน การตรวจสอบทางการแพทย์ การตรวจสอบผู้บริหาร การตรวจสอบข้อมูล การตรวจสอบหลักฐาน ฯลฯ การตรวจสอบหรือการประเมินคุณภาพ กลายมาเป็น “คำหลัก” (keyword) ที่ผ่องถ่ายความหมายดั้งเดิมมาสู่สังคมใหม่และบริบทใหม่ ในมหาวิทยาลัย ระบบประเมินคุณภาพหรือการตรวจสอบ มาพร้อมกับความหมายแฝงเกี่ยวกับการเปิดเผยผลงานต่อสาธารณะ ความโปร่งใส และการพิจารณาผลงาน เป็นต้น
   

การยักย้ายถ่ายโอนเอาคำว่า “ระบบตรวจสอบ” (ในภาษาของการประเมินคุณภาพ) จากโลกของการเงินการบัญชีการธนาคาร มาสู่โลกของความรู้และมหาวิทยาลัย ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการนิยามความหมายของ “มหาวิทยาลัย” ใหม่ในฐานะเป็นองค์กรการเงิน หรือองค์กรที่งกเงินเท่านั้น หากแต่ระบบตรวจสอบ ยังมีนัยของวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย
   

การยักย้ายถ่ายโอนความหมายดังกล่าว ยังเป็นการนิยามความหมายใหม่ให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ในฐานะเป็นฐานทรัพยากรที่จำต้องได้รับการประเมินผลิตภาพและประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ระบบการประเมินคุณภาพหรือการตรวจสอบจึงกลายมาเป็นพาหะของการเปลี่ยนวิธีคิดที่บุคลากรหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยสัมพันธ์กับสถานที่ ประชาชน นักศึกษา เพื่อนร่วมงานและผู้บริหาร เป็นที่น่าสังเกตว่าการนำเอาระบบการประเมินคุณภาพมาใช้ในมหาวิทยาลัยและระบบราชการโดยทั่วไปนั้น มักจะเน้นในเรื่องของ ความเป็นอิสระในการประเมินตนเองขององค์กรและผู้ปฏิบัติงาน  แบบประเมินผลงานของอาจารย์ใช้คำว่า “แบบข้อตกลงร่วมก่อนการปฏิบัติงาน”  ซึ่งดูแล้วคล้ายกับว่าผู้ปฏิบัติงานเองสามารถกำหนดขอบเขตและเนื้อหาของ “งาน” ที่ตนทำได้อย่างอิสระ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนสามารถทำงานที่ตนถนัดได้อย่างเต็มที่ และได้รับการประเมินบนพื้นฐานของข้อตกลงที่ตนเองได้ทำไว้ก่อนหน้านั้น ในแง่นี้ ดูเหมือนว่าระบบการประเมินคุณภาพนั้นเปิดกว้าง สร้างการมีส่วนร่วมและไม่น่าจะมีใครโต้แย้งหรือปฏิเสธได้  ทั้งๆที่โดยเนื้อแท้ความจริงแล้ว คำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ ประเมิน  ประสิทธิภาพ คุณภาพ คุ้มค่า ล้วนแล้วแต่ปิดบังซ่อนเร้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจและนัยแห่งการลงโทษเอาไว้ภายใต้ภาษาใหม่ของการบริหารจัดการ
   

อำนาจที่ซ่อนเร้น ย่อมเป็นอำนาจที่มีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อใดที่ผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจ ไม่สำนึกรู้สึกตัวว่าตนเองกำลังถูกกระทำ เทคนิควิทยาแห่งอำนาจนั้นย่อมได้ผล การดึงเอาความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มาพูดใหม่ด้วยภาษาของการเงินและการบริหารจัดการ จึงทำให้ดูเหมือนว่าการประเมินคุณภาพนั้นเป็นกลาง เปิดกว้างและเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างแท้จริง

การขุดหลุมฝังตนเองในสุสานทางปัญญา

ระบบประกันคุณภาพภายใต้แนวคิดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ กำลังปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นโรงเรียนฝึกอาชีพ ประสิทธิภาพในการทำงานถูกชี้วัดเชิงปริมาณอย่างมักง่าย และตายตัวเหมือนกันไปหมดในทุกสาขาวิชาซึ่งขัดกับความเป็นจริง ในขณะเดียวกัน ระบบตรวจสอบและประเมินคุณภาพได้ทำลายวัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ และสร้างวัฒนธรรมของการยืนกุมเป้าน้อมรับคำสั่งจากเบื้องบนอย่างเชื่องเชื่อง ในขณะที่บรรยากาศแห่งการทำงานเต็มไปด้วยความหวาดผวาและการจับผิด ระบบตรวจสอบการทำงานเน้นรูปแบบ ตามแบบฟอร์มที่กำหนดอย่างตายตัวมากว่าจะเน้นที่เนื้อหา และ “ศักยภาพ” ในการผลิตความรู้เพื่อตอบสนองต่อสังคมโดยรวม  ผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินตามระบบตรวจสอบ หรือท้าทายต่อผู้บังคับบัญชาจะถูกเพ่งเล็ง จ้องจับผิด และคาดโทษ  Association of University Teachers (AUT) หรือสมาคมอาจารย์มหาวิทยาลัยในอังกฤษถึงกับทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลโดยกล่าวว่า “ระบบการตรวจสอบคุณภาพที่ถูกสร้างขึ้นนั้น เป็นการเพียงการเชื้อเชิญ (แกมบังคับ) ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยน้อมรับคำสั่งของผู้บริหาร” แต่กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว ช่วงเวลากว่าสิบปีนับจากทศวรรษที่ 1980 อาจารย์มหาวิทยาลัยในอังกฤษเริ่มพบว่าตนเองกำลังเผชิญหน้าอยู่กับ “สำนึกของการปกครอง” (governmentality) แบบใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐ ในการจัดระเบียบและสร้างมาตรฐานในการควบคุมเชิงศีลธรรมอย่างเข้มงวดตายตัวเพียงชุดเดียว ท่ามกลางความหลากหลายของแนวคิด วัฒนธรรม สาขาวิชา และกลุ่มชนต่างๆที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย สำนึกของความเป็นครูและพันธะทางสังคมกำลังแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
   

ยิ่งไปกว่านั้น ท่ามกลางบรรยากาศของการแข่งขันกันแย่งชิงลูกค้ากับสถาบันการศึกษาอื่นๆ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งถูกกดดันให้เร่งขยายหลักสูตร เพิ่มจำนวนนักศึกษาที่รับเข้า ขยายขนาดของห้องเรียน เพิ่มภาระการสอนของอาจารย์และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลายเป็นการกระทำของ “ขาประจำ” ที่มิอาจยอมรับได้  ศาสตราจารย์ทางการแพทย์ท่านหนึ่ง ตีพิมพ์บทความเรื่อง “การเรืองอำนาจขึ้นของลัทธิสตาลินในระบบสาธารณสุขแห่งชาติ” ในวารสาร British Medical Journal โดยเสนอว่าระบบสาธารณสุขแห่งชาติ ได้กลายมาเป็นองค์กรเผด็จการที่ทำให้คนทำงานในระบบต่างหวาดผวาไม่กล้าพูดความจริง” และในขณะเดียวกัน บทความเดียวกันนั้น ก็วิพากษ์วิจารณ์ระบบการเรียนการสอนของคณะแพทย์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของตนว่ามีความเข้มข้นของหลักสูตรลดน้อยลงไป ผลปรากฎว่าอาจารย์ท่านนั้น ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยยื่นจดหมายคาดโทษในฐานะที่ทำให้ “สถาบัน” เสื่อมเสียชื่อเสียง  กฎข้อแรกของระบบตรวจสอบคุณภาพมีอยู่ว่า ห้ามมิให้บุคลากรคนใดบังอาจก้าวล่วงไปกล่าวว่า มาตรฐานของการทำงานหรือการเรียนการสอนในสถาบันของตนกำลังตกต่ำลง  เพราะการกล่าวเช่นนั้นย่อมหมายถึงการยอมรับความล้มเหลว และในระบบของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณที่มีอยู่จำกัด ความล้มเหลวย่อมต้องถูกลงโทษด้วยการตัดงบประมาณในขณะที่ความสำเร็จได้รับรางวัลโดยการเพิ่มงบประมาณ
   

ระบบประกันคุณภาพ ยังทำให้มหาวิทยาลัยเริ่มแยกส่วนการทำงานออกจากกันมากยิ่งขึ้น งานสอน งานวิจัยและการบริหารจัดการ กลายเป็นงานคนละประเภทและถูกประเมินด้วยเกณฑ์ที่แตกต่างกัน อาจารย์มหาวิทยาลัยเริ่มตกอยู่ภายใต้แนวคิดที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวิชาชีพของตนเอง ระหว่างการเป็น “นักวิชาการ” ที่มีเสรีภาพในการทำงาน กับตัวแบบใหม่ของการเป็น “พนักงาน” มหาวิทยาลัยที่เน้นการแข่งขันและการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงปริมาณ  AUT  ทำการสำรวจภาระงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยในอังกฤษทั้งสิ้น 2,670 คนในปี 1994 และพบว่า ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ของอาจารย์โดยเฉลี่ยคิดเป็น 53.5 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานมากกว่ากรรมกรซึ่งทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น เวลาทำงานส่วนใหญ่ของอาจารย์กลับใช้ไปในการบริหารจัดการ การกรอกแบบฟอร์มและการประชุม ซึ่งคิดเป็นเวลาทั้งสิ้นสัปดาห์ละ 18 ชั่วโมง ในขณะที่เวลาของการทำวิจัยลดลงเหลือสัปดาห์ละ 7 ชั่วโมง  การสำรวจของ AUT ยังพบว่า อาจารย์กว่าสองในสาม เริ่มมีความเครียดกับงานเพิ่มมากขึ้น ความพึงพอใจกับชีวิตการทำงาน ความสนุกกับการสอนหนังสือ การเขียนหนังสือและการทำวิจัย ลดลงอย่างน่าตกใจ
   

การแทรกตัวเข้ามาอย่างรวดเร็วของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในสังคมไทย ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในความพยายามที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเข้าสู่ตลาดหุ้นและภาคธุรกิจเอกชน การถีบมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอีกหลายประเภทออกนอกระบบ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน การบ้าเห่อระบบ ISO รวมทั้งการสร้างระบบประกันคุณภาพเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ประสิทธิภาพในการทำงานและการแข่งขันให้สูงขึ้น ทั้งหมดเหล่านี้กำลังจะปรับเปลี่ยนให้มหาวิทยาลัยไทย ซึ่งมีความอ่อนแอในทำงานเพื่อรับใช้สังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เปลี่ยนทิศทางไปสู่การเป็นโรงฝึกอาชีพ แหล่งรวมของหลักสูตรฟอกคน การแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงลูกค้า มากยิ่งขึ้น โดยอ้างหลักการของความคุ้มค่าในการบริหารจัดการงบประมาณและพันธะทางสังคมต่อผู้เสียภาษีเป็นสำคัญ
   

คงไม่มีครูบาอาจารย์ท่านใดปฏิเสธพันธะทางสังคม หากแต่การนำเอา “เงิน” หรือ งบประมาณมาเป็นหัวใจของการตรวจสอบและประเมินคุณภาพ เป็นเทคนิควิทยาแห่งอำนาจที่มุ่งกดบังคับ “นักวิชาการ” ให้คล้อยตาม และกลายเป็นพนักงานที่เชื่องเชื่อ  และเป็นแนวคิดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วในการแปรสภาพมหาวิทยาลัยชั้นนำในอังกฤษ ให้กลายมาเป็นสถาบันสอนภาษาตามซอกมุมต่างๆของโลก  ภาษาของการตรวจสอบบัญชี การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ประสิทธิภาพและคุณภาพ เป็นเพียงตัวเบิกนำเพื่อยึดครอง ครอบงำ บงการ กำหนดขอบเขตหน้าที่และพันธะทางสังคมของมหาวิทยาลัยด้วยมาตรฐานเดี่ยวอย่างตายตัว ในขณะ เดียวกัน อิสรภาพทางวิชาการ วัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ หน้าที่ในการเป็นสำนึกให้กับสังคม  การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การรักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม  และการเป็นกระบอกเสียงให้กับคนชายขอบที่ไร้เสียง ไร้สิทธิ กำลังถดถอยลงไปทุกวัน  การทำงานวิจัยเริ่มมีความหมายที่แคบลงกลายเป็นเพียงการทำงานเพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สามารถวัดได้ด้วยเงิน  ความรู้กำลังถูกลดค่าลงเป็นเพียงปริญญาบัตรสำหรับให้คนมีเงินมาซื้อไปเป็นใบเบิกทางในสงครามแย่งชิงการงานและการเลื่อนตำแหน่ง  การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับความจริง ความดี ความงาม ความเป็นมนุษย์ การตั้งคำถามกับความเป็นไปของสังคม การแสวงหาทางเลือกใหม่ๆให้กับสังคม กำลังเสื่อมสลายลงไปอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยกำลังจะแปรสภาพมาเป็นสุสานแห่งปัญญา ที่ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยทำงานตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายไปวันๆอย่างเชื่องเชื่อ กรอบของการทำงาน ภาระงานและประสิทธิภาพในการทำงานถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน ทุกคนทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนสูงขึ้นและได้งบประมาณมากขึ้น ไม่มีเวลาหยุดคิด วิพากษ์ตนเอง และสำรวจตรวจสอบเรื่องไร้สาระอย่างเช่นพันธะรับผิดชอบที่มหาวิทยาลัยเคยมีต่อสังคม

Yos Santasombat, Ph.D. <santasombat@yahoo.com>
Professor of Anthropology,
Chair of Ph.D. Program in Social Sciences, Chiang mai University.
And Senior Research Scholar, Thailand Research Fund.