วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

Commodified Romance in A Tokyo Host Club

เล่าสรุป ๆ จากที่อ่านบทความ Commodified Romance in A Tokyo Host Club ของ Akiko Takeyama นิสิตดุษฎีบัณฑิตสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย Illinois คาดว่าน่าจะเขียนได้ไม่นาน เพราะเป็นบทความต่อจาก Queer Eyes For the Japanese Guy ที่มานำเสนอไปในงานเควียร์ที่ผ่านมา

ปัจจุบันในโตเกียวมีร้านโฮสต์ประมาณ 200 ร้าน ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ในญี่ปุ่น เพราะร้านแรกตั้งขึ้นในปี 1966ร้านเหล่านี้มีในYokohamaและOsakaด้วย งานวิจัยนี้เน้นเก็บข้อมูลที่ย่านKabuki-cho เพราะมีร้านและโฮสต์จำนวนมาก ประมาณ 5,000 กว่าคน

คนที่มาเป็นโฮสต์มีสองประเภทคือ ระดับการศึกษาต่ำจนไม่สามารถเป็นพนักงานได้ และพนักงานที่มาทำนอกเหนือจากงานประจำ โฮสต์มักจะมีรูปร่างผอมบาง ผิวสีแทน ใส่เสื้อผ้าและเครื่องประดับที่มีราคา

จุดเด่นของงานนี้คงเป็นการสัมภาษณ์ลูกค้าที่ชื่อ Akemi เธอใช้เงินประมาณ 100ล้านเยน เพื่อให้โฮสต์ที่เธอสนับสนุนสามารถไต่ลำดับเป็นอันดับต้น ๆ ได้ แม้กระทั่งเธอไปประกอบอาชีพบริการทางเพศเพื่อหาเงินมาให้ได้ เธอบอกว่า "เขาไม่ได้บังคับให้เธอทำแบบนี้ แต่เธอยินดีที่จะทำให้เขา สิ่งที่ฉันได้พบคือฉันมีความรู้สึกที่มากกว่ารักเขา และเธอรู้สึกเข้มแข็งมาก"

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าผู้หญิงที่มาใช้บริการโฮสต์คลับ มักจะเป็นผู้หญิงที่ต้องการความสุขทางเพศ แต่แท้ที่จริงแล้วเธอต้องการแค่ความรู้สึกว่าเป็นที่ต้องการและเป็นคนสำคัญ เพียงแค่การกอด หรือว่าจูบจากคนที่เธอชอบ เธอก็มีความสุขแล้ว ตัวอย่างเช่นMiki หญิงม่ายอายุ31ปีมีลูกชาย2คน เธอเริ่มมาเที่ยวประมาณ3ปี เธออธิบายความผูกพันนี้ว่า Kimochi (Heart and Feeling)

บทสัมภาษณ์อาจารย์Hagio MotoในTCJ

tcj269

Hagio Moto ชื่อคนนี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกันเท่าไหร่ในบ้านเรา ยกเว้นแฟนการ์ตูนรุ่นเก่าที่ต้องเติมคำว่ามากๆ ต่อท้ายด้วย ผลงานที่เด่นๆ ของอาจารย์คือ Heart of Thomas ที่น่าจะเป็นการ์ตูนรวมเล่มแนวนี้เล่มแรก ถึงแม้ว่าจะไม่โด่งดังเท่ากับ Kaze no Uta ของ Keiko Takemiya ก็ตาม แต่ก็เป็นเพื่อนร่วมกลุ่มที่เริ่มต้นด้วยการเอาหนังสือเกย์มาอ่านจนวาดการ์ตูนออกมาเหมือนกัน แต่สไตล์เรื่องคนละโทนเลย (งานของอาจารย์Hagio เน้นแนวไซไฟ ตัวเอกมักจะไม่มีเพศ แต่งานของอาจารย์Takemiya จะค่อนข้างดราม่ากว่าเยอะเลย)

โดยส่วนตัวเพิ่งมารู้จักอาจารย์จากบทความของJames Walkers ที่ส่งมาให้อ่านหลังงานQueer Conference (ขอบคุณอีกครั้งที่ได้อ่านตั้งแต่ดราฟท์ จนถึงตีพิมพ์เลย) แล้วไปๆ มาๆ ก็ดันไปเจอว่ามีบทสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษในวารสารThe Comic Journal เล่มนี้ก็ลังเลอยู่นานเหมือนกัน เนื่องจากค่าส่งครึ่งหนึ่งของราคาหนังสืออ่ะนะ แต่ก็สั่งไปอยู่ดีตามประสา เนื่องจากเห็นว่าเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการ์ตูนผู้หญิงทั้งเล่ม และมีบทความเกี่ยวกับYAOIด้วย (ถึงแม้ว่าจะมีOnlineแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่าพอสั่งมาถึงเห็นว่าบทความนั้น เขาลงไม่หมดอ่ะ ฮา)

พอเปิดมาปุ๊ป ภายในเล่มมีภาพร่าง ภาพสีน้ำ และการ์ตูนเรื่องสั้นของอาจารย์ ~><~โอย คุ้มค่ะ รวมไปถึงความเอาใจใส่ของเวบนี้ด้วยการส่งแคตตาล็อคมาให้อีก แม้ว่าจะไม่เคยสั่งอะไรอีกเลย

บทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์โดย Matt Thorn อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Kyoto Seika ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการ์ตูนผู้หญิง (ตอนนั้นยังไม่ได้แยกสาขาออกมาเป็นแผนกCartoon and Comic Art ในคณะวารสารฯ แต่ตอนนี้แยกตัวออกมาเป็น School of Manga Production ไม่นานมานี้ ) เลยคิดว่าความน่าเชื่อถือค่อนข้างมากเลยล่ะ

แต่ถึงจะน่าดึงดูดเช่นไร อิฉันก็ทิ้งๆ ขว้างๆ อ่านไม่จบสักที จนกระทั่งคนอื่นเอาไปอ่านจบแล้วกลับมาคืนด้วยซ้ำ ด้วยโฆษณาชวนเชื่อที่บอกว่าอ่านสนุกจนไม่ได้นอน ก็เลยเอามาอ่านดูก็ได้ฟะ ประจวบเหมาะกับตาเจ็บ เลยไม่ได้ใช้คอมเท่าไหร่ก็เลยว่างอ่าน (ได้ข่าวว่าจริงๆ ก็อ่านหนังสือก็ใช้สายตาเหมือนกันนี่หว่า) พออ่านแล้วก็ต้องอ่านให้จบเหมือนกันแฮะ เพราะสนุกมาก แต่ผลสุดท้ายก็พ่ายแพ้สังขารต้องวางก่อนอยู่ดี

อาจารย์Hagioเป็นผู้หญิงที่น่ารัก ขำตลอด บทสัมภาษณ์ปูพื้นตั้งแต่ประวัติครอบครัว มุมมองของครอบครัวที่มีต่อผลงาน เส้นทางในการวาดการ์ตูน การได้รับรางวัล ชีวิตส่วนตัวที่หลายคนจะสงสัยว่าเธอเป็นหญิงรักหญิงหรือเปล่า ตลอดจนความประทับใจในการ์ตูนแต่ละเรื่องของตัวเอง

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างในเล่มคือบทความของMatt Thornที่เล่าเกี่ยวกับกลุ่มวาดการ์ตูนYAOIรุ่นแรกๆ ที่เรียกว่า The Magnificent Forty-Niners หรือ Magnificent 24-Year Group (Hana no nijiuuyo nen gumi) ตามชื่อปีเกิดของพวกเธอ อันประกอบไปด้วย Hagio Moto, Keiko Takemiya, Riyoko Ikeda, etc.

ลิ้งค์ที่ลงบทสัมภาษณ์เต็มๆ ในเวบของMatt Thorn เผื่อใครสนใจไปตามอ่านกันนะคะ เหมือนในเล่มเลยล่ะ http://matt-thorn.com/shoujo_manga/hagio_interview.htm

Shojo Manga ก่อนมาเป็น YAOI

takemiya_vinyl_f

พอดีไปค้นเจอบทความที่มัวแต่ซีร็อคเก็บไว้ แล้วไม่ได้เอามาใช้ในงานตัวเองสักที พบว่าประเด็นนี้ก็น่าสนใจเลยเอามาเล่าค่ะ

บทความนี้ชื่อว่า Gender insubordination in Japanese Comics (manga) for girls by Fusami Oogi, 2001

คำว่า Shojo ที่แปลว่า ผู้หญิง นั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นการนำเสนอภาพของผู้หญิงญี่ปุ่น แต่เป็นการนำเสนอภาพของผู้หญิงในอุดมคติตะวันตกที่ว่า 'Good Wife and Wise Mother' ในช่วงเมจิตามกระแสเฟมินิสต์

การ์ตูนผู้หญิงเริ่มแยกตัวประมาณทศวรรษที่ 1940 แต่นักเขียนส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นผู้ชาย จนต่อมาในทศวรรษที่ 1950-1960 เนื้อเรื่องจึงมุ่งไปที่เนื้อเรื่องแบบMelodrama (น้ำเน่า?) กับประเด็นความเป็นแม่

ต่อมาในทศวรรษที่ 1970 ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในการ์ตูนผู้หญิง เนื่องจากสภาพทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงเป็นแรงงานสำคัญ ตรงกับยุคที่สองของกระแสเฟมินิสต์ตะวันตก พร้อมกับการ์ตูนผู้หญิงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้วยผู้เขียนและผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง จากเดิมที่ส่วนใหญ่ผู้เขียนและผู้อ่านเป็นผู้ชาย รวมทั้งเริ่มมีจุดขายที่ต่างกัน การ์ตูนผู้ชายเน้นที่เนื้อเรื่อง การ์ตูนผู้หญิงเน้นที่การแสดงความรู้สึกของตัวละคร ความทรงจำ อดีต รวมถึงเทคนิคที่ใช้ เช่น พื้นหลังเป็นดอกไม้

ประเด็นหลักสองด้านที่พบในการ์ตูนผู้หญิงช่วงทศวรรษที่ 1970 คือ ตัวละครผู้หญิงเป็นตัวดำเนินเรื่อง กับการวางสถานะผู้หญิงในฐานะผู้กระทำ

แน่นอนว่ากลุ่มนักเขียนผู้หญิงในยุคนี้ก็คือ Magnificent 24 ที่เป็นยุคบุกเบิกของการ์ตูนYAOI ในปัจจุบันนั่นเอง

แฮะๆ ตัดจบซะดื้อๆ เพราะที่เหลือจะเป็นการเปรียบเทียบผลงานของแต่ละคนในยุคนั้น ใครสนใจลองไปหาอ่านกันนะคะ

Review Hentai: G-Spot Express

G-Spot_Express

ยอมรับว่าช่วงหลังๆ ได้ดู Hentai แบบต่างๆ เยอะขึ้น นอกเหนือจาก YAOI เพราะหลายครั้งที่ต้องตอบคำถามว่า Hentai กระแสหลักเลวร้ายตามที่นักสตรีนิยมญี่ปุ่นบอกหรือไม่ เอ่อ บางเรื่องก็แล้วต่อมุมมองอ่ะนะ-*-ขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยมองเห็นว่าจะมี Review ถึง Hentai เหล่านี้ในภาษาไทยเท่าไหร่

โดยส่วนตัวคิดว่า Review Hentai ควรจะมีการนำเสนอมุมมองของคนเขียน นอกเหนือไปจากการบอกว่าลายเส้นสวย หุ่นของผู้หญิงดี ภาพในเรื่องเน้นการนำเสนออวัยวะเพศหญิง ตลอดจนการถ่ายทอดท่าทางในการมีเพศสัมพันธ์ หรือการถึงจุดสุดยอดของผู้ชายในตัวผู้หญิง ฯลฯ

แน่นอนว่า การเขียน Review Hentai ก็ยังคงเป็นการบ่งบอกว่าคนที่เขียนเป็นคนที่ต้องดูและติดตามมาบ้าง

ยิ่งไปกว่านั้น บรรทัดฐานทางสังคมที่คิดว่า เรื่องเพศไม่ใช่สิ่งที่ผู้หญิงที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะแต่งงานสมควรรู้เห็น นอกจากว่าจะเป็นการถ่ายทอดเพื่อให้สามารถรับใช้ผู้ชายบนเตียง นอกเหนือจากทักษะอื่นๆ เช่น การทำกับข้าว การดูแลบ้าน

แต่ก็ขัดแย้งเช่นกันว่า ผู้หญิงที่มีทักษะในเรื่องเพศสูงก็ถูกนับว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ดีไม่ควรจะเป็นแม่ของลูกตนเอง แต่เหมาะกับการเป็นคู่นอนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน สังคมไทยยังยอมรับความสัมพันธ์ทางเพศภายใต้สถาบันการแต่งงานเท่านั้น ดังนั้นการอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงาน การเป็นชู้ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร (ที่ไม่รู้ว่าใช้อะไรวัด) การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง หรือแม้กระทั่งการกินยาคุมกำเนิด หรือการพกถุงยางอนามัย ก็กลายเป็นสิ่งที่มีสถานะเป็นสิ่งเลวร้ายไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก (แต่จะบอกว่าไม่เดือดร้อนคนอื่นก็ไม่เต็มปาก เพราะสะเทือนถึงฐานปิรามิดประชากรแน่ๆ ฮา)

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ตนเองไม่คิดว่าการเขียน Review Hentai จะเป็นการผลิตซ้ำและถ่ายทอดภาพของผู้หญิงในสายตาผู้ชายแต่เพียงอย่างเดียว

กลับมาเข้าเรื่อง G-Spot Express ก่อนที่จะไปไกลกว่านี้ดีกว่า - -"

เรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของ Katsuhiko ที่มีความสามารถในการลวนลามผู้หญิงบนรถไฟ แน่นอนว่าการลวนลามนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การลูบไล้ภายนอกเท่านั้น แต่รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งนี้สามารถทำให้ผู้ชายคนอื่นๆ ยอมรับในตัวเขามากขึ้น กลายเป็นหัวหน้าไปในที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีตำรวจหญิงคอยติดตามพยายามจับกุมแต่ก็ไม่สำเร็จและถูกนำไปรุมข่มขืน

ระหว่างนั้นจะมีการย้อนอดีตของKutsuhiko ตอนเด็กๆ ว่าเขามีประสบการณ์ในการขึ้นรถไฟพร้อมกับแม่ แม่ของเขาถูกลวนลามเช่นกันแต่ก็มีความสุขมาก และนั่นก็คือคำตอบของเขาในตอนจบของเรื่องที่กล่าวว่า "แท้ที่จริงแล้ว เขาเป็นคนดีที่ช่วยตอบสนองความต้องการของผู้หญิงต่างหาก"พร้อมกับฉากผู้หญิงสองคนที่เคยถูกลวนลามและข่มขืนบนรถไฟ ช่วยตัวเองคล้ายกับเป็นสัญญาณในการเรียกKutsuhikoออกมา และทั้งสองคนนี้ก็พยายามปกป้องเขาไม่ให้ถูกจับกุมได้

มุมมองโดยส่วนตัว โครงเรื่องแบบนี้แหละถึงสมกับเป็นHentaiกระแสหลักที่มีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชาย ทั้งที่ไม่ค่อยเข้าใจว่าผู้หญิงในเรื่องนั้นจะต้องสวยหุ่นดีเท่านั้นหรือ? ส่วนเรื่องการแต่งกายนั้น อาจจะเข้าล็อคไปหน่อยว่า เพราะผู้หญิงแต่งตัวเช่นนี้เลยล่อลวงให้ผู้ชายเกิดความต้องการ กลายเป็นความผิดของผู้หญิงอีก
แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ผู้หญิงที่ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ จะไม่ดำเนินคดี นอกจากอับอายแล้ว ก็ต้องยอมรับว่ามีผู้หญิงอีกกลุ่มที่มีความสุขเช่นนี้ด้วย ช่างเป็นการท้าทายสตรีนิยมเช่นกัน

ทุกอย่างช่างเป็นเรื่องมองต่างมุมเสียจริง

เราต้องการระเบิดทางปัญญา

คำกล่าวนี้เป็นบทเกริ่นนำสัมภาษณ์ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ในนิตยสารสารคดี ฉบับที่๒๗๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ หน้าปก๑ศตวรรษธนาคารไทย

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ Open ที่เป็นสื่อทางความคิดด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เคยออกเป็นนิตยสารเมื่อสิบปีที่ก่อนแล้วต้องปิดตัวลง จนกระทั่งกลับมาอีกครั้งในรูปแบบเวบไซต์ที่ (http://www.onopen.com/)

ความน่าสนใจของบทความนี้ไม่ใช่ประเด็นเรื่องมุมมองที่มีต่อการรัฐประหาร หากแต่เป็นเรื่องตลาดหนังสือในเมืองไทยที่เป็นตัวชี้วัดสังคมอย่างหนึ่ง ดังประโยค "You are what you read"

คำถาม: ในฐานะคนทำหนังสือ สำนักพิมพ์ openbooks ไม่ประสบความสำเร็จเลยในเชิงธุรกิจ หนังสือก็ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำนิตยสารก็เจ๊งมาแล้ว ทำไมถึงยังยืนหยัดทำอยู่

คำตอบ: ข้อแรก เราต้องตัดเรื่องความสำเร็จหรือล้มเหลวออกไปก่อน เพราะทุกวันนี้เราถูกมายาคติของวิธีคิดการบริหารธุรกิจวัดผลความสำเร็จหรือล้มเหลวกันที่ผลกำไรหรือขาดทุนเท่านั้น ถ้าเอาตรงนี้มาจับมันเหลือประเด็นเดียว กำไรหรือขาดทุน กำไรเยอะแสดงว่าประสบความสำเร็จมาก ถ้าขาดทุนมากแสดงว่าคุณล้มเหลวสุดๆ ถ้าใช้วิธีคิดแบบนี้มองโลก ชีวิตและสิ่งที่เราทำ เราจะแคบมาก เราจะโดนบีบให้ไม่ทำอะไรเลย เพราะต้องตอบสนองวิธีคิดการทำกำไรสูงสุดอย่างเดียว เราจะไม่สามารถทำอะไรที่เราอยากทำได้ เราต้องลืมข้อนี้ไปก่อน แล้วมาถามว่าเราอยากทำอะไร กำไรของชีวิตที่มากกว่าเรื่องเงินคืออะไร มิตรภาพที่เราได้จากการทำงานตีเป็นมูลค่าได้ไหม เวลาที่เราได้คืนมาตีมูลค่าได้ไหม งานที่เราได้ทำแล้วเรารักเราตีมูลค่าได้ไหม ธุรกิจเราไม่ได้ล้มหายตายจาก เรายังสามารถทำต่อไปได้ แสดงว่ามันได้กำไร แน่นอนมันไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่เราได้หลายสิ่งในชีวิตที่เราอยากได้ ซึ่งเราคิดว่ามันมีคุณค่าสำหรับเรา นี่เป็นเหตุผลให้เราทำในสิ่งที่ยังเชื่ออยู่

เหตุผลที่เราเลิกนิตยสาร เพราะนิตยสารมันเป็นแค่กระดาษที่เราพิมพ์ความคิด ทัศนคติ รสนิยมของเราลงไป การที่เราจะรักษากระดาษรักษานิตยสารไว้ ถึงวันนั้นมันอาจจะยังอยู่ แต่ทัศนคติและแนวคิดของเราอาจจะไม่อยู่แล้ว เพราะเราอาจต้องสมยอมกับหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเพื่อรักษากระดาษ วันหนึ่งเราจึงเลือกที่จะรักษาแนวคิดของเราเอาไว้ เพราะเราเชื่อว่ากระดาษมันย่อยสลายได้ แต่ความคิดมันจะไม่ตาย มันจะอยู่ แล้ววันข้างหน้าคนที่มองเห็นความคิดนี้ว่ามันยังอยู่ หรือเขาอาจจะคิดต่างออกไปก็ได้ ก็จะเอาแนวคิดของเราไปใช้สืบเนื่องทำงานต่อได้ ในวันข้างหน้าโลกอาจไม่มีกระดาษ แต่แนวคิดมันยังอยู่ ผมกำลังพยายามจะบอกว่าผมเลือกที่จะรักษาความคิด ไม่ใช่รักษากระดาษ

การทำหนังสือเล่มเป็นการผลิตปัญญาต้นทุนต่ำที่สุดที่สังคมไทยอนุญาตให้ทำได้ ผมไม่สามารถทำแม็กกาซีนต้นทุนสูง ทำหนังสือพิมพ์ใช้ทุนนับร้อยล้านบาท ทำรายโทรทัศน์ก็ต้องซื้อเวลาที่แพงมาก แม้กระทั่งทำรายการวิทยุส่วนมากก็เป็นของทหารของราชการ ปัจเจกชนที่ต้องการทำงานทางด้านปัญญา ต้องการผลิตปัญญาให้แก่สังคมในราคาถูกจะมีช่องทางอะไรบ้างนอกจากเป็นอาจารย์ ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำได้คือเราคัดสรรภูมิปัญญามาทำหนังสือเล่มในราคา ๑๐๐ กว่าบาทที่ทุกคนสามารถซื้อได้ ถ้าห้องสมุดใจดีซื้อไปก็สามารถทำให้คนเข้าถึงปัญญาได้ในราคาต่ำกว่า ๑๐๐ บาทเสียอีก ด้วยการยืมหนังสือจากห้องสมุด นี่เป็นกระบวนการสั่งสมองค์ความรู้ สังคมตะวันตกที่พัฒนามาสู่สังคมสั่งสมองค์ความรู้ได้ เพราะรากฐานมาจากเทคโนโลยีการพิมพ์อันทำให้ความรู้กระจายออกจากกลุ่มคนระดับสูง มาสู่ชนชั้นกลางระดับสูง มาสู่คนชั้นล่าง ความรู้ที่ทั่วถึงในทุกระดับชั้นมันทำให้เกิดการปฏิวัติทางสังคมได้ ผมแค่กำลังทำในสิ่งที่ย้อนหลังไป ๕๐๐ ปีที่สังคมตะวันตกเคยทำ หวังว่าสิ่งเล็กๆ นี้จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสังคมได้

อ่านคำสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่ http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=802

ส่วนหนึ่งก็เข้าใจว่าทำไมเลือกสัมภาษณ์คุณภิญโญ เพราะแนวทางในการทำหนังสือของโอเพ่นก็ไม่ต่างจากสารคดี, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, มูลนิธิโกมลคีมทอง ฯลฯ  หรือสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยมากนัก (อยากจะรวมถึงมูลนิธิตำราสังคมศาสตร์ฯ ด้วย แต่จนใจด้วยราคาแพงกว่าแหล่งอื่นมาก) ขณะเดียวกันคนที่มาร่วมขันกันในโอเพ่นส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ไม่ก็อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ

แม้จะมีข้อถกเถียงว่า ประเด็นนี้เป็นอุดมคติของคนชั้นกลาง (ที่ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร) ที่พร้อมทุกอย่างแล้ว ไม่จำเป็นต้องคำนึงเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าอุดมการณ์ แต่อย่างน้อยความหลากหลายที่ปรากฏอยู่ในแวดวงคนทำหนังสือแบบนี้ คงจะเป็นการจุดประกายให้กับคนรุ่นต่อไปได้บ้าง

แบ่งประเภทการ์ตูนอย่างนี้จะดีแน่เหรอ?

กลับมาทบทวนเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งประเภทการ์ตูนญี่ปุ่นอีกครั้ง โอเคเรื่องการแบ่งประเภทตามกลุ่มคนอ่านก็ไม่ได้ติดใจอะไร หรือแม้กระทั่งงานชิ้นใหม่ๆ ที่หาเจอ (แต่เก่าแล้ว) ก็เป็นการแบ่งตามโป๊มากน้อย

ปัญหาอยู่ที่การแบ่งตามโครงเรื่องอ่ะดิ แบ่งออกเป็นวิทยาศาสตร์ (SF), รักๆ ใคร่ๆ ในสถาบันการศึกษา (Gakuen), สัตว์ประหลาด (Kaiki), สงคราม (Senki), จักรๆ วงศ์ๆ (Jidai), สาวรุ่น (Shojo), ปลุกใจเสือป่า (Ero) และล้ำยุค (Avant Garde)

แค่ภาษาก็กินขาดแล้ว -*- ปัญหาที่น่าตกใจกว่านั่นคือ วิทยานิพนธ์/งานวิจัยภาษาไทยที่มีอยู่ในมือดันอ้างชิ้นนี้ต่อๆ กันมาเกือบทุกเล่ม เอ่อ

คำถามที่ตามมา คือ
๑) สังคมญี่ปุ่นแบ่งแบบนี้หรือเปล่า? เท่าที่หาดูก็ไม่มีนี่หว่า? เอาบริบทไทยไปจับหรือเปล่าเนี่ย งง
๒) การสำรวจอันนี้มันสามสิบปีที่แล้ว ปัจจุบันการ์ตูนญี่ปุ่นมันมีแนวใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาแล้วไม่ใช่เหรอ?
๓) แบ่งตามนี้ก็เท่ากับว่าต้องยอมรับว่าการ์ตูนหนึ่งเรื่องสามารถเป็นได้มากกว่าหนึ่งแนวนะเฟ้ย อย่ายัดเยียดให้เป็นแค่แนวเดียวละกัน

ทำให้ระลึกถึงคำสอนว่า "อย่าเชื่อเพราะตามๆ กันมา"เลยเฟ้ย

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553

ราชอาณาจักรและราษฏรสยาม

แปะๆ สำรองข้อมูลของตัวเอง

----------------------------------------------

เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring). 2547. ราชอาณาจักรและราษฏรสยาม 1 (The Kingdom and People of Siam). นันทนา ตันติเวสส และคณะ (แปล). กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

เกร็ดเกี่ยวกับหนังสือ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกัณฐิกา ศรีอุดม. 2547. คำนำเสนอ: พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว-เซอร์จอห์น เบาว์ริง-การค้าเสรี และ "ระเบียบใหม่" ของโลกเก่า. ใน ราชอาณาจักรและราษฏรสยาม 1. หน้า (11)-(32). กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
หน้า (18)
หนังสือชุดนี้ เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ของสยาม ตั้งแต่เรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ประชากร ผลิตผลทางธรรมชาติ ประเทศราชของสยาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไปจนถึง "บันทึกประจำวัน 1 เดือนเต็ม" ของเบาว์ริงเอง ที่จดไว้อย่างละเอียดตั้งแต่เรือมาถึงสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ 24 มีนาคม จนถึงวันลงนามสนธิสัญญา 18 เมษายน และออกเรือจากสยามไปเมื่อ 24 เมษายน รวมแล้ว 1 เดือนเต็ม
หนังสือชุดนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1857 (พ.ศ. 2400) ที่กรุงลอนดอน และกลายเป็นหนังสือหายาก มีคนเล่นกันแบบเก็บ "ของเก่า" ทำให้ไม่สะดวกสำหรับการศึกษาค้นคว้า แต่น่าดีใจที่ว่าในปี พ.ศ. 2512 (1969) สำนักพิมพ์อ๊อกซฟอร์ดได้นำมาตีพิมพ์ซ้ำ และให้ "ศ.เดวิด วัยอาจ" (David K. Wyatt) เขียนคำนำให้ แต่ในการพิมพ์ครั้งหลังนี้ได้ตัดบางอย่างที่สำคัญทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย นั่นคือพระราชลัญจกรตัวหนังสือขอมเขมร และจีนของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงประทับตีตราไปใน "พระราชสาส์น (จดหมาย)" ถึงเบาว์ริง

หน้า (20)
หนังสือที่เบาว์ริง "ตัด ต่อ และแปะ" กลายเป็นเสมือน "คู่มือประเทศสยาม" อย่างดีนี้ ผงาดขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับหนังสือคลาสิกอย่างของลาลูแบร์สมัยอยุธยา (La Loubere, Simon de la, Du Royaume de Siam, Amsterdam, 1691, Description du Royaume de Siam, Amsterdam, 1700,1713) ซึ่งสันต์ ท. โกมลบุตร. แปลไว้ใน จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2510)
หรืออีกเล่มหนึ่งของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ (Bishop Pallegoix: Description du Royaume Thai ou Siam, 1852) ที่แปลเป็นไทยแล้ว คือ "เล่าเรื่องกรุงสยาม" ท่านสังฆราชใช้ทั้งชีวิตในกรุงสยาม แต่เบาว์ริงอยู่ในเมืองหลวงของเราเพียง 1 เดือนเท่านั้นเอง หนังสือของฝรั่งเศสทั้งสองเล่มนี้ เบาว์ริงใช้ทั้งอ้าง ทั้งอิง และทั้งยกข้อความมาใส่ไว้ในหนังสือใหม่ของท่านอย่างมากมาย

หน้า 131
การแต่งงานเป็นเรื่องที่มีการเจรจามาก มิได้กระทำโดยบิดามารดาโดยตรง แต่เป็นพวกเถ้าแก่ ที่บิดามารดาของว่าที่เจ้าบ่าว เสนอให้เป็นผู้ไปดำเนินการสู่ขอกับบิดามารดาของว่าที่เจ้าสาว
ขั้นที่ 2 คือ การทาบทามสู่ขอ หากเป็นผลสำเร็จ จะมีเรือลำใหญ่ที่ตกแต่งด้วยธงทิวอย่างเบิกบานมาพร้อมกับเสียงดนตรี ปูลาดด้วยเสื้อผ้า จาน ผลไม้ พลู ฯลฯ ตรงกลางเป็นขนมขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งหรือหลายชิ้น วางเป็นรูปปิระมิดที่มีสีสันสดใส
เจ้าบ่าวจะถูกติดตามเป็นขบวนไปยังบ้านของพ่อตาในอนาคต และที่เป็นสินเดิมของเจ้าสาว และมีการกำหนดวันที่มีพิธีฉลองการแต่งงาน
เจ้าบ่าวมีหน้าที่จะต้องปลูกเรือนหรือครอบครองเรือนที่อยู่ใกล้กับที่เขาได้ตั้งใจไว้ และเวลาต้องผ่านไปหนึ่งหรือสองเดือนก่อนที่เขาจะพาเจ้าสาวออกเรือนไปได้ ไม่มีการทำพิธีทางศาสนาใดๆ ประกอบการแต่งงาน แม้จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาฉันอาหารเนื่องในงานเลี้ยงฉลอง ค่าใช้จ่ายจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเลี้ยงฉลอง มีดนตรีพ่วงมาด้วยเสมอ

หน้า 132
แม้ว่าจำนวนภรรยาและนางบำเรอจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งและความตั้งใจของสามี ภรรยาผู้ได้รับขันหมากเข้าพิธีแต่งงาน มีฐานะสูงกว่าคนอื่นๆ ที่เหลือและเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฏหมายอย่างแท้จริงเพียงคนเดียว และตัวเธอกับบุตรธิดาเท่านั้นที่เป็นทายาทตามกฏหมาย ผู้ได้รับทรัพย์สมบัติของสามี
การแต่งงานได้รับการอนุญาตหากไม่มีความเกี่ยวดองเป็นพี่น้องกันในชั้นแรก {=ห้ามพี่น้องลูกพ่อแม่เดียวกันแต่งงานกันเอง}

หน้า 132
การหย่าทำได้ง่ายดายโดยการร้องเรียนจากสตรี ในกรณีที่สินเดิมถูกส่งคืนให้ภรรยา หากมีบุตรด้วยกันเพียงคนเดียว บุตรจะเป็นของมารดา ผู้ได้รับบุตรคนที่ 3 คนที่ 5 และที่มีในลำดับเลขคี่ทั้งหมด สามีจะได้ตัวบุตรคนที่ 2 คนที่4 และอื่นๆ ต่อไป

หน้า 132
สามีอาจจะขายหญิงที่เขาซื้อมาเป็นภรรยาได้ แต่ไม่อาจขายภรรยาที่เข้าพิธีแต่งงานด้วยกันได้ ถ้าภรรยามีส่วนในการทำสัญญาเป็นหนี้ในฐานะตัวแทนผลประโยชน์ของสามี เธออาจจะถูกขายเพื่อนำเงินมาไถ่ถอนหนี้สินได้ แต่มิใช่วัตถุประสงค์อื่น กล่าวโดยรวมได้ว่าสภาวะของสตรีในประเทศสยามดีกว่าที่อื่นในประเทศตะวันออกส่วนใหญ่

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

“แพรพรรณผันเพศ: มุมมองจากญี่ปุ่นและจีน”

เอกสารประกอบการเสวนากับอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เรื่อง “แพรพรรณผันเพศ: มุมมองจากญี่ปุ่นและจีน” (เนื้อหาเป็นแนวประวัติศาสตร์ วรรณคดีและปรัชญา)
หัวข้อที่จะเสนอ
1. Shaping Attire, Shaping Love in the Era of Genji Monogatari by Sachiko Takeda
2. Connections Between Changes in Ideology and Female Dress in China by Wu Yunn En
3. ภาวะปัจจุบันของวัฒนธรรม Transgender (การข้ามเพศ) ในญี่ปุ่น by Mitsuhashi Junko
ในวันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2553 เวลา 13.00-16.00 น.ณ ห้อง 707 อาคารบรมราชกุมารี ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ปล. เอกสารประกอบการเสวนาได้รับความกรุณาจากอาจารย์สุภัควดี อมาตยกุล

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2553

เพศสภาพ เพศภาวะ เพศสภาวะ

พอดีไปค้นๆ ของราชบัณฑิตเกี่ยวกับคำว่า “พึ่ง” และ “เพิ่ง” พบว่า

ก. "พึ่ง" เป็นคำกริยา ใช้ในความว่า พึ่งพาอาศัย เช่น ป่าพึ่งเสือ เรือพึ่งพาย ฯลฯ
ข. "เพิ่ง" ใช้เป็นคำวิเศษณ์ หมายความว่า บัดนี้, เดี๋ยวนี้ เกี่ยวกับเวลาปัจจุบัน เช่น "อย่าเพิ่งไป, ของนี้เพิ่งมีขึ้น" คำ "พึ่ง" ที่เอามาใช้เป็นคำวิเศษณ์ควรใช้ "เพิ่ง" เช่น "เขาพึ่งมา" ควรใช้ว่า "เขาเพิ่งมา" "อย่าพึ่งไป" ควรใช้ว่า "อย่าเพิ่งไป" ฯลฯ

นับว่ายังเข้าใจถูกต้อง แต่ปัจจุบันไม่แตกต่าง

เพิ่ง ว. พึ่ง. (ดู พึ่ง ๒).
พึ่ง ๑ ก. อาศัย เช่น พึ่งบารมีคนอื่น, พักพิง เช่น ไปพึ่งเขาอยู่, ขอความ
ช่วยเหลือ เช่น หนีร้อนมาพึ่งเย็น.
พึ่ง ๒ ว. คําช่วยกริยาหมายถึงเวลาที่ล่วงไปหยก ๆ ในขณะที่พูดนั้น เช่น
เขาพึ่งไป, เพิ่งก็ว่า; ใช้ประกอบหลังคำ อย่า เป็น อย่าพึ่ง หมายความ
ว่า ห้ามไม่ให้กระทำในขณะนั้น เช่น อย่าพึ่งไป อย่าพึ่งกิน, เพิ่ง เพิก
หรือ เพ่อ ก็ว่า.

ชวนให้มึนงงดีแท้

ต่อมาดันไปเจอคำต่อไปนี่สิ

ก. "ภาวะ" หมายถึง ความเป็น (ทั่วไป) ตรงกับคำอังกฤษว่า Condition
ข. "สภาวะ" หมายถึง ความเป็นเองตรงกับคำอังกฤษ Nature (Abstract)
ค. แต่คำ "สภาพ" นั้น หมายถึง ภูมิแห่งความเป็น (ภูมิ - ชั้น, ขีดขั้น) ตรงกับคำอังกฤษว่า State

แล้วมารวมกับเพศเนี่ย ควรใช้ว่าไรดีหว่า?

อีกคำที่น่าสนใจ คือ

ก. คำอังกฤษว่า Independence หมายถึง ความเป็นใหญ่ทั้งภายในและภายนอก คำไทยควรใช้ว่า "เอกราช" สำหรับประเทศ (มีใช้แล้วในแจ้งความของคณะราษฎร) แต่สำหรับบุคคล ควรใช้ว่า "ความเป็นไท" (ไท ไม่มี ย ตาม)
ข. คำอังกฤษว่า Autonomy หมายถึง ความเป็นใหญ่ภายใน แต่มิได้เป็นใหญ่ภายนอก ควรใช้ว่า "อิสรภาพ" ดังตัวอย่างที่ใช้กันอยู่แล้ว เช่น "กรมอิสระ"
ค. คำอังกฤษว่า Liberty หมายถึง ความปลอดจากอุปสรรค, เมื่อพูดถึงการเมือง ย่อมหมายถึง สิทธิที่อาจจะกระทำได้ ถ้าเป็นคำคุณศัพท์อังกฤษใช้ว่า Free ถ้าเป็นคำนาม อังกฤษมี ๒ รูป คือ Freedom กับ Liberty
Liberty อังกฤษใช้ทั่วไปถึงความปลอดจากอุปสรรคใด ๆ ก็ได้ หรือปลอดจากอำนาจของบุคคลก็ได้ แต่ฝรั่งเศสใช้คำเดียวกันว่า Liberte (ลีแบเต)
เพราะฉะนั้นคำ "อิสสรภาพ" จึงตรงกับคำ Autonomy ไม่ใช่ Liberty และ "เสรีภาพ" ตรงกับคำ Freedom หรือ Liberty โดยอธิบายมาแล้วข้า

 

 

ที่มา: http://www.tpschamnong.iirt.net/article/basa_5nt096.html

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553

มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติหรือสุสานทางปัญญา โดย ยศ สันตสมบัติ

ระบบการศึกษาของเมืองไทยเวลานี้ กำลังเผชิญหน้ากับสภาวะวิกฤติ หลงทาง ไร้วิสัยทัศน์ จุดยืนและปรัชญาการศึกษาที่ชัดเจน  โรงเรียนกลายมาเป็นสนามสอบ โรงกวดวิชา เรียนข้อสอบเพื่อแข่งกันเข้ามหาวิทยาลัย แต่สถาบันการศึกษาชั้นสูงที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยนั้นกลับแปรสภาพจากแหล่งผลิตความรู้และปัญญามาเป็นเพียงโรงฝึกอาชีพ โรงเรียนเทคนิค และแห่งรวมของหลักสูตรฟอกคน ตั้งแต่การฟอกบุคคลสามัญยันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและรัฐมนตรี มหาวิทยาลัยหลายแห่งขยายวิทยาเขตหรืออาณาจักรของตนเองอย่างสนุกสนาน และมองด้วยวิธีคิดแบบทุนนิยมรุ่นเก่าว่าการขยายตัวคือความสำเร็จ อาจารย์มหาวิทยาลัยมากมายทำงานเหมือนครูประชาบาล สอนตั้งแต่เช้ายันค่ำ โดยแทบไม่มีเวลาว่างเว้น ยิ่งเสาร์อาทิตย์ยิ่งเป็นเวลาขุดทอง ด้วยการสอนหลักสูตรภาคพิเศษราคาแพงระยับโดยมีหลักการตามภาษิตใหม่ที่ว่า “หากจ่ายครบ (มึง) จบแน่”  


หลักสูตรต่างๆเหล่านี้เน้นการให้ปริญญาชั้นสูง โดยเฉพาะมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต  แต่ปริญญาเหล่านี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสร้างความรู้และสติปัญญาให้กับทั้งผู้สอนและผู้เรียน การทำวิทยานิพนธ์ก็เลือกกันได้ตามใจชอบ จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ หรือจะทำเป็นบทความขนาดใหญ่ที่เรียกว่าสาระนิพนธ์ (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีสาระ) ก็แล้วแต่ความพอใจ บางหลักสูตรอาการหนักถึงกับสามารถทำวิทยานิพนธ์หรือสาระนิพนธ์เป็นกลุ่ม คือนักเรียนฝูงหนึ่งทำงานชิ้นเดียวก็จบได้ และหลายแห่งก็มีบริการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จสรรพ สนนราคากำหนดไว้ตามแต่ความยากง่ายของประเด็นและหัวข้อวิทยานิพนธ์ การเก็บวิเคราะห์ข้อมูลและการเขียนรายงานออกมาเป็นรูปเล่ม วิทยานิพนธ์และสาระนิพนธ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่ไปกองเป็นเศษกระดาษอยู่ตามหิ้งในห้องสมุด ไม่เคยมีใครยืมออกไปใช้อ่านหรือทำประโยชน์อะไร ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือหรือบทความในวารสารระดับนานาชาติ เพราะงานเหล่านี้ ไม่ได้ผลิตความรู้อะไรใหม่ ไม่มีข้อค้นพบใดสมควรแก่การพูดถึง แต่เป็นเพียง “งาน” ที่สำรอกส่งไปเพื่อให้ครบตามเกณฑ์สำหรับอนุมัติปริญญาเท่านั้น


ยิ่งมหาวิทยาลัยถูกแรงกดดันให้ออกนอกระบบ ตั้งแต่สมัยสัญญาทาสไอเอ็มเอฟของท่านนายกฯชวน ทางเลือกและวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยไทยก็ดูเหมือนจะหดแคบลง เช่นเดียวกับสติปัญญาของผู้คนในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มขึ้นค่าเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ในรูปของเงินบำรุงพิเศษและค่าธรรมเนียมอื่นๆจิปาถะ บางแห่งจับนักศึกษาทดสอบภาษาอังกฤษเพียงเพื่อจะเก็บเงินค่าสอนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม มิใช่เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกภาษาให้แตกฉานจะได้อ่านวารสารต่างประเทศได้เข้าใจ

มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มสร้างจุดขายใหม่ๆ สร้างหลักสูตรใหม่ๆ ที่เก๋ เท่ จบง่าย รายได้ดี เป็นแรงจูงใจให้ “ลูกค้า”  เร่กันเข้ามาซื้อปริญญา  ยิ่งนานวันเข้า มหาวิทยาลัยและคณาจารย์ที่สอนในหลักสูตรภาคพิเศษเหล่านี้ ก็ค่อยๆกลายสภาพมาเป็นเครื่องจักรสอนหนังสือ สอนเรื่องเดิมๆ ประเด็นเดิมๆ แนวคิดเก่าๆ เพราะผู้มาเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนใจความรู้ แต่ต้องการมาชุบตัว คนสอนก็ไม่ได้สอนด้วยใจรักแต่สอนเพราะถูกบีบบังคับ เกรงใจเพื่อน หรือบ้างก็สอนเพราะรายได้ดี


เงิน พลังงาน เวลาและทรัพยากรมากมายที่สิ้นเปลืองไปในการเรียนการสอนหลักสูตรพิเศษต่างๆ จึงไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้ ไม่ได้เสริมสร้างสติปัญญา ไม่ได้นำเสนอนโยบายหรือทางเลือกใหม่ให้กับสังคมแต่ประการใด งานวิจัยใหม่ๆเริ่มหายากมากขึ้นทุกวัน เพราะผู้คนในมหาวิทยาลัยเหนื่อยล้าไปกับการสอน การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติเป็นเพียงฝันสวยตรงปลายรุ้งที่จะเลือนหายไปหลังฟ้าเปิด ระบบการศึกษากลายเป็นเพียงปาหี่ ละครน้ำเน่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งแขวนป้ายขายปริญญาราวกับร้านโชห่วย หรือห้างสรรพสินค้าที่ลดแลกแจกแถมแข่งกันสนั่นเมือง  ในท่ามกลางบรรยากาศเช่นนี้เอง ที่ความเขลากลับเจริญงอกงาม บัณฑิต มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตเดินกร่างกรุยกรายกันเกลื่อนถนน แกล้งทำเป็นผู้รู้ ผู้มีวิทยฐานะสมควรแก่ปริญญาเหล่านั้นทุกประการ


สังคมไทยจึงกระเดียดไปเป็นสังคมที่หยุดสร้างองค์ความรู้ และไม่ใช่สังคมเรียนรู้ และเมื่อสังคมหยุดเรียนรู้ เผด็จการอำนาจนิยม การผูกขาดข้อมูลข่าวสาร การคอรัปชั่นทางนโยบายและความฉ้อฉลต่างๆก็เพิ่มพูนขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยผลิตแต่ศรีธนญชัยที่ฉลาดแกมโกง เก่งเอาตัวรอด และมุ่งหวังกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ แต่ไม่ได้มีสำนักในพันธะทางสังคมเฉกเช่นผู้มีการศึกษาที่แท้จริงพึงมี สังคมไทย ตั้งแต่ท่านผู้นำลงมาสู่ผู้บังคับบัญชากระจอกงอกง่อยในมหาวิทยาลัยอย่างเช่นหัวหน้าสาขาหรือภาควิชา ล้วนแล้วแต่ขาดวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ ใครบังอาจมาวิพากษ์หรือแข็งขืนจะถูกมองเป็นศัตรู คู่แข่ง ขาประจำ คนเหล่านี้มุ่งทำลาย คนเหล่านี้โง่เขลา ขาดข้อมูล มองปัญหาเพียงด้านเดียว ฯลฯ จนกลายมาเป็นสูตรสำเร็จเพื่อตอบโต้แทนที่จะน้อมรับคำวิจารณ์เหล่านั้นอย่างเช่นผู้มีปัญญาพึงกระทำ


ในขณะที่สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ระบบการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นบนเวทีโลก มหาวิทยาลัยซึ่งควรเป็นขุมกำลังแห่งปัญญาในการแสวงหาทางเลือก ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตพลเมืองที่มีคุณภาพและมีคุณธรรม กลับแปรสภาพไปเป็นสุสานแห่งปัญญา
   

ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยของรัฐในฐานะที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ ยังถูกกดทับด้วยแนวทางและหลักเกณฑ์ตามมาตรการพัฒนา และบริหารกำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการ หรือพูดเป็นภาษาคนให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ถูกลดอัตรากำลังลง ด้วยการเชิญให้เกษียณอายุก่อนกำหนดสองครั้ง  และเมื่อยังไม่บรรลุเป้า ก็มีการสร้างหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาคุณภาพและประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัย เป็นมาตรการที่สาม ซึ่งก่อให้เกิดความระส่ำระสายให้กับผู้คนในสาขาที่ไม่ขาดแคลนตามสมควร บางคนมีความรู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องสอนมากขึ้น ต้องหาเงินหรือสร้างหลักสูตรใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น แต่ระบบการประเมินที่ทางราชการและมหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังใช้อยู่ในเวลานี้ มิได้ช่วยให้การทำงานของระบบราชการและมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพหรือคุณภาพเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
   

ในทางตรงกันข้าม ระบบพัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคนิควิทยาแห่งอำนาจ หรือกลไกในการควบคุมบังคับระบบราชการให้อยู่ภายใต้ชะเงื้อมของนักธุรกิจการเมืองอย่างเชื่องเชื่อ ระบบการประเมินคุณภาพดังกล่าวมาพร้อมกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ และกระบวนการครอบงำของระบบทุนนิยมผูกขาดเหนือระบบราชการและมหาวิทยาลัยไทย 

บทเรียนจากอังกฤษ

ในช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาชั้นสูงที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังของประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆอีกมากมายหลายแห่งในสังคมตะวันตก ถูกถีบเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปหรือการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อคุณภาพการศึกษาและการทำงานของมหาวิทยาลัยในฐานะเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์สติปัญญาของสังคม ในบ้านเรา กระบวนการปรับเปลี่ยนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังฟองสบู่แตก และรัฐบาลชวนเซ็นสัญญาทาสกับไอเอ็มเอฟ โดยเงื่อนไขหนึ่งในสัญญานั้น คือ การปรับโครงสร้างของสถาบันการศึกษาไทยซึ่งเรียกกันติดปากเรื่อยมาว่า “การออกนอกระบบ” ราชการ มาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
   

องค์ประกอบสำคัญของการปฏิรูปมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นในอังกฤษ และกำลังได้รับการลอกเลียนแบบในบ้านเรา ก็คือ การนำเสนอ “ระบบประกันคุณภาพ” หรือกลไกสำหรับการประเมิน ปริมาณงาน คุณภาพของการสอน การทำวิจัย และประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กร สาขาวิชา คณะ และมหาวิทยาลัยทั้งระบบ กลไกการประเมินคุณภาพดังกล่าวได้รับการนำเสนอในฐานะเป็นหลักประกัน “พันธกิจ” (accountability) หรือพันธะรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย (และหน่วยงานราชการอื่นๆ) ต่อสังคม หลักการดังกล่าวข้างต้น เป็นเงื่อนไขหรือเหตุผลในการผลักดันการปฏิรูปบนพื้นฐานของแนวคิดที่ว่า หน่วยงานใดก็ตามที่นำเอาภาษีอากรของประเทศชาติมาใช้ จะต้องมีพันธะรับผิดชอบต่อสาธารณชน  การประเมินประสิทธิภาพและคุณภาพของการทำงานของมหาวิทยาลัยดำเนินไปภายใต้กรอบของ “การเพิ่มประสิทธิภาพ” และ “คุณภาพ” ในการทำงาน ตลอดจน การมี “อิสระ” ในการบริหารจัดการ ซึ่งฟังดูราวกับว่ากลไกต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยกลายมาเป็นองค์กรอิสระ หลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของระบบราชการ เปลี่ยนจากความเชื่องช้าอุ้ยอ้ายในการบริหารจัดการ ไปสู่ความฉับไว ทันสมัย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสาธารณชนได้อย่างแท้จริง
   

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากการถูกถีบออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในประเทศอังกฤษ ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบบประกันคุณภาพ หรือกลไกการประเมินประสิทธิภาพบนฐานของพันธกิจต่อสังคม มิได้ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรมหาชนและมีพันธะรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ระบบประกันคุณภาพ และการบริหารอัตรากำลังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัย กลับกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ กลไกในการกำกับและตรวจสอบ การทำงานของมหาวิทยาลัยให้อยู่ภายใต้ชะเงื้อมของนักธุรกิจการเมืองอย่างเชื่องเชื่อ ระบบการประเมินคุณภาพดังกล่าวนั้น ลดศักดิ์ศรีและคุณค่าของมหาวิทยาลัย จากแหล่งผลิตความรู้ พื้นที่ของปัญญาชน และเวทีการต่อสู้ทางการเมือง ให้กลายมาเป็นเพียงการจัดความสัมพันธ์ระหว่าง “พนักงานของมหาวิทยาลัย” ที่ถูกประเมินบนพื้นฐานของแบบฟอร์มที่สร้างขึ้นอย่างหยาบๆ ปรับเปลี่ยนคุณภาพของงานให้กลายเป็นเพียงตัวเลขเชิงปริมาณอย่างมักง่าย อีกทั้งยังมีการนำเสนอมาตรการลงโทษบุคลากรที่ทำงานไม่เข้าตา “เจ้านาย” หรือผู้บริหาร มาตรการดังกล่าวเป็นเทคนิควิทยาแห่งอำนาจ ซึ่งมาพร้อมกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ และกระบวนการครอบงำของระบบทุนนิยมผูกขาดเหนือมหาวิทยาลัย
   

แน่นอน มหาวิทยาลัยเป็นเพียงพื้นที่หนึ่งหรือหน่วยงานหนึ่ง ที่ซึ่งแนวคิดและปฏิบัติการของลัทธิเสรีนิยมใหม่ เริ่มแทรกตัวเข้ามาครอบงำและปรับเปลี่ยนบรรทัดฐานและตัวแบบของ ระบบการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นและดำเนินมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้แนวคิดแบบรัฐสวัสดิการ  ลัทธิเสรีนิยมใหม่รื้อถอนแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการด้วยการปฏิเสธระบบราชการว่าด้อยประสิทธิภาพกว่าภาคเอกชน ผลักดันแนวคิดเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นๆของรัฐให้เข้าสู่ตลาดหุ้น หรือแปรสภาพกลายเป็นองค์กรมหาชน ภายใต้หลักการของทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย
   

เทคนิควิทยาแห่งอำนาจที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่นำมาใช้อย่างได้ผลในประเทศอังกฤษ และกำลังถูกลอกเลียนอยู่ในประเทศไทย  คือ การนำเสนอแนวคิดเรื่อง “การตรวจสอบ” (ภายใต้ภาษาของการประเมินคุณภาพ) ให้มีความหมายในเชิงบวก และกลายมาเป็นภาษาใหม่ที่ให้ความรู้สึกดีๆเช่นเดียวกับคำว่า “โปร่งใส”   “การกระจายอำนาจ” และ “ธรรมาภิบาล” เป็นต้น
   

หากเราย้อนกลับไปดูรากศัพท์ของคำว่า “ตรวจสอบ” (audit) ในภาษาอังกฤษนั้น มีความหมายอยู่ 5 ประการด้วยกัน ประการแรก หมายถึงการตรวจสอบบัญชี สถานะการเงิน ประการที่สอง หมายถึง  ข้อตกลงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวระหว่างเจ้าที่ดินกับชาวนา ประการที่สาม หมายถึงการพิจารณาหรือยืนยันอย่างเป็นทางการ ประการที่สี่ หมายถึง การรับฟัง การไต่สวนและการพิจารณาความ และประการที่ห้า หมายถึงการหาข้อตกลงหรือคิดบัญชี  ความหมายทั้งห้าประการดังกล่าวของคำว่า “ตรวจสอบ” มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า ‘audire’ ซึ่งแปลว่า การได้ยินหรือรับฟัง ความหมายทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึง การพิจารณา การไต่สวน และการพิพากษา ซึ่งในทางอุดมคติแล้วควรเป็น “กระบวนการสาธารณะ” ที่กระทำอย่างเปิดเผย หากแต่โดยเนื้อแท้ความจริงแล้ว ระบบตรวจสอบในนามของการประเมินคุณภาพ กลับมีลักษณะที่ละม้ายเหมือน กระบวนการประชาพิจารณ์ที่เราคุ้นเคยกัน ในด้านหลักการ ประชาพิจารณ์หมายถึงการรับฟังความเห็นจากประชาชนก่อนตัดสินใจอนุมัติโครงการ แต่ในบ้านเรา ประชาพิจารณ์ทำหลังอนุมัติโครงการไปแล้ว  ระบบตรวจสอบในนามของการประเมินคุณภาพ ยังมีนัยของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบบอุปถัมป์ หรือความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ที่ไม่เคยมีมาก่อนหรือไม่เคยมีนัยสำคัญมากนักในรอบรั้วของมหาวิทยาลัย ระบบตรวจสอบหรือการประเมินคุณภาพกลายมาเป็นการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ตรวจสอบและผู้ถูกตรวจสอบ ผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน  การประเมินทำให้ “บุคลากร” กลายเป็น “จำเลย” ที่ถูกไต่สวน พิจารณา และพิพากษา  โดยผู้ประเมินกลายเป็นทั้งตำรวจ อัยการและศาลไปพร้อมกัน
   

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ระบบตรวจสอบเริ่มถูกเคลื่อนย้ายจากภาคการเงินการธนาคาร มาสู่ปริมณฑลใหม่ๆของสังคม  ภายใต้ภาษาของการประเมินคุณภาพ และกลายมาเป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพ ประสิทธิภาพ และความโปร่งใสในทุกแวดวงของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบราชการและการเมือง ด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดมีการประเมินการสอน การตรวจสอบทางการแพทย์ การตรวจสอบผู้บริหาร การตรวจสอบข้อมูล การตรวจสอบหลักฐาน ฯลฯ การตรวจสอบหรือการประเมินคุณภาพ กลายมาเป็น “คำหลัก” (keyword) ที่ผ่องถ่ายความหมายดั้งเดิมมาสู่สังคมใหม่และบริบทใหม่ ในมหาวิทยาลัย ระบบประเมินคุณภาพหรือการตรวจสอบ มาพร้อมกับความหมายแฝงเกี่ยวกับการเปิดเผยผลงานต่อสาธารณะ ความโปร่งใส และการพิจารณาผลงาน เป็นต้น
   

การยักย้ายถ่ายโอนเอาคำว่า “ระบบตรวจสอบ” (ในภาษาของการประเมินคุณภาพ) จากโลกของการเงินการบัญชีการธนาคาร มาสู่โลกของความรู้และมหาวิทยาลัย ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการนิยามความหมายของ “มหาวิทยาลัย” ใหม่ในฐานะเป็นองค์กรการเงิน หรือองค์กรที่งกเงินเท่านั้น หากแต่ระบบตรวจสอบ ยังมีนัยของวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย
   

การยักย้ายถ่ายโอนความหมายดังกล่าว ยังเป็นการนิยามความหมายใหม่ให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ในฐานะเป็นฐานทรัพยากรที่จำต้องได้รับการประเมินผลิตภาพและประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ระบบการประเมินคุณภาพหรือการตรวจสอบจึงกลายมาเป็นพาหะของการเปลี่ยนวิธีคิดที่บุคลากรหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยสัมพันธ์กับสถานที่ ประชาชน นักศึกษา เพื่อนร่วมงานและผู้บริหาร เป็นที่น่าสังเกตว่าการนำเอาระบบการประเมินคุณภาพมาใช้ในมหาวิทยาลัยและระบบราชการโดยทั่วไปนั้น มักจะเน้นในเรื่องของ ความเป็นอิสระในการประเมินตนเองขององค์กรและผู้ปฏิบัติงาน  แบบประเมินผลงานของอาจารย์ใช้คำว่า “แบบข้อตกลงร่วมก่อนการปฏิบัติงาน”  ซึ่งดูแล้วคล้ายกับว่าผู้ปฏิบัติงานเองสามารถกำหนดขอบเขตและเนื้อหาของ “งาน” ที่ตนทำได้อย่างอิสระ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนสามารถทำงานที่ตนถนัดได้อย่างเต็มที่ และได้รับการประเมินบนพื้นฐานของข้อตกลงที่ตนเองได้ทำไว้ก่อนหน้านั้น ในแง่นี้ ดูเหมือนว่าระบบการประเมินคุณภาพนั้นเปิดกว้าง สร้างการมีส่วนร่วมและไม่น่าจะมีใครโต้แย้งหรือปฏิเสธได้  ทั้งๆที่โดยเนื้อแท้ความจริงแล้ว คำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบ ประเมิน  ประสิทธิภาพ คุณภาพ คุ้มค่า ล้วนแล้วแต่ปิดบังซ่อนเร้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจและนัยแห่งการลงโทษเอาไว้ภายใต้ภาษาใหม่ของการบริหารจัดการ
   

อำนาจที่ซ่อนเร้น ย่อมเป็นอำนาจที่มีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อใดที่ผู้คนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจ ไม่สำนึกรู้สึกตัวว่าตนเองกำลังถูกกระทำ เทคนิควิทยาแห่งอำนาจนั้นย่อมได้ผล การดึงเอาความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มาพูดใหม่ด้วยภาษาของการเงินและการบริหารจัดการ จึงทำให้ดูเหมือนว่าการประเมินคุณภาพนั้นเป็นกลาง เปิดกว้างและเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างแท้จริง

การขุดหลุมฝังตนเองในสุสานทางปัญญา

ระบบประกันคุณภาพภายใต้แนวคิดของลัทธิเสรีนิยมใหม่ กำลังปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นโรงเรียนฝึกอาชีพ ประสิทธิภาพในการทำงานถูกชี้วัดเชิงปริมาณอย่างมักง่าย และตายตัวเหมือนกันไปหมดในทุกสาขาวิชาซึ่งขัดกับความเป็นจริง ในขณะเดียวกัน ระบบตรวจสอบและประเมินคุณภาพได้ทำลายวัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ และสร้างวัฒนธรรมของการยืนกุมเป้าน้อมรับคำสั่งจากเบื้องบนอย่างเชื่องเชื่อง ในขณะที่บรรยากาศแห่งการทำงานเต็มไปด้วยความหวาดผวาและการจับผิด ระบบตรวจสอบการทำงานเน้นรูปแบบ ตามแบบฟอร์มที่กำหนดอย่างตายตัวมากว่าจะเน้นที่เนื้อหา และ “ศักยภาพ” ในการผลิตความรู้เพื่อตอบสนองต่อสังคมโดยรวม  ผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินตามระบบตรวจสอบ หรือท้าทายต่อผู้บังคับบัญชาจะถูกเพ่งเล็ง จ้องจับผิด และคาดโทษ  Association of University Teachers (AUT) หรือสมาคมอาจารย์มหาวิทยาลัยในอังกฤษถึงกับทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลโดยกล่าวว่า “ระบบการตรวจสอบคุณภาพที่ถูกสร้างขึ้นนั้น เป็นการเพียงการเชื้อเชิญ (แกมบังคับ) ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยน้อมรับคำสั่งของผู้บริหาร” แต่กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว ช่วงเวลากว่าสิบปีนับจากทศวรรษที่ 1980 อาจารย์มหาวิทยาลัยในอังกฤษเริ่มพบว่าตนเองกำลังเผชิญหน้าอยู่กับ “สำนึกของการปกครอง” (governmentality) แบบใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐ ในการจัดระเบียบและสร้างมาตรฐานในการควบคุมเชิงศีลธรรมอย่างเข้มงวดตายตัวเพียงชุดเดียว ท่ามกลางความหลากหลายของแนวคิด วัฒนธรรม สาขาวิชา และกลุ่มชนต่างๆที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย สำนึกของความเป็นครูและพันธะทางสังคมกำลังแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
   

ยิ่งไปกว่านั้น ท่ามกลางบรรยากาศของการแข่งขันกันแย่งชิงลูกค้ากับสถาบันการศึกษาอื่นๆ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งถูกกดดันให้เร่งขยายหลักสูตร เพิ่มจำนวนนักศึกษาที่รับเข้า ขยายขนาดของห้องเรียน เพิ่มภาระการสอนของอาจารย์และเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลายเป็นการกระทำของ “ขาประจำ” ที่มิอาจยอมรับได้  ศาสตราจารย์ทางการแพทย์ท่านหนึ่ง ตีพิมพ์บทความเรื่อง “การเรืองอำนาจขึ้นของลัทธิสตาลินในระบบสาธารณสุขแห่งชาติ” ในวารสาร British Medical Journal โดยเสนอว่าระบบสาธารณสุขแห่งชาติ ได้กลายมาเป็นองค์กรเผด็จการที่ทำให้คนทำงานในระบบต่างหวาดผวาไม่กล้าพูดความจริง” และในขณะเดียวกัน บทความเดียวกันนั้น ก็วิพากษ์วิจารณ์ระบบการเรียนการสอนของคณะแพทย์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของตนว่ามีความเข้มข้นของหลักสูตรลดน้อยลงไป ผลปรากฎว่าอาจารย์ท่านนั้น ถูกผู้บริหารมหาวิทยาลัยยื่นจดหมายคาดโทษในฐานะที่ทำให้ “สถาบัน” เสื่อมเสียชื่อเสียง  กฎข้อแรกของระบบตรวจสอบคุณภาพมีอยู่ว่า ห้ามมิให้บุคลากรคนใดบังอาจก้าวล่วงไปกล่าวว่า มาตรฐานของการทำงานหรือการเรียนการสอนในสถาบันของตนกำลังตกต่ำลง  เพราะการกล่าวเช่นนั้นย่อมหมายถึงการยอมรับความล้มเหลว และในระบบของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณที่มีอยู่จำกัด ความล้มเหลวย่อมต้องถูกลงโทษด้วยการตัดงบประมาณในขณะที่ความสำเร็จได้รับรางวัลโดยการเพิ่มงบประมาณ
   

ระบบประกันคุณภาพ ยังทำให้มหาวิทยาลัยเริ่มแยกส่วนการทำงานออกจากกันมากยิ่งขึ้น งานสอน งานวิจัยและการบริหารจัดการ กลายเป็นงานคนละประเภทและถูกประเมินด้วยเกณฑ์ที่แตกต่างกัน อาจารย์มหาวิทยาลัยเริ่มตกอยู่ภายใต้แนวคิดที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวิชาชีพของตนเอง ระหว่างการเป็น “นักวิชาการ” ที่มีเสรีภาพในการทำงาน กับตัวแบบใหม่ของการเป็น “พนักงาน” มหาวิทยาลัยที่เน้นการแข่งขันและการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงปริมาณ  AUT  ทำการสำรวจภาระงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยในอังกฤษทั้งสิ้น 2,670 คนในปี 1994 และพบว่า ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ของอาจารย์โดยเฉลี่ยคิดเป็น 53.5 ชั่วโมง ซึ่งหมายความว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานมากกว่ากรรมกรซึ่งทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น เวลาทำงานส่วนใหญ่ของอาจารย์กลับใช้ไปในการบริหารจัดการ การกรอกแบบฟอร์มและการประชุม ซึ่งคิดเป็นเวลาทั้งสิ้นสัปดาห์ละ 18 ชั่วโมง ในขณะที่เวลาของการทำวิจัยลดลงเหลือสัปดาห์ละ 7 ชั่วโมง  การสำรวจของ AUT ยังพบว่า อาจารย์กว่าสองในสาม เริ่มมีความเครียดกับงานเพิ่มมากขึ้น ความพึงพอใจกับชีวิตการทำงาน ความสนุกกับการสอนหนังสือ การเขียนหนังสือและการทำวิจัย ลดลงอย่างน่าตกใจ
   

การแทรกตัวเข้ามาอย่างรวดเร็วของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในสังคมไทย ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในความพยายามที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเข้าสู่ตลาดหุ้นและภาคธุรกิจเอกชน การถีบมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอีกหลายประเภทออกนอกระบบ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน การบ้าเห่อระบบ ISO รวมทั้งการสร้างระบบประกันคุณภาพเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ประสิทธิภาพในการทำงานและการแข่งขันให้สูงขึ้น ทั้งหมดเหล่านี้กำลังจะปรับเปลี่ยนให้มหาวิทยาลัยไทย ซึ่งมีความอ่อนแอในทำงานเพื่อรับใช้สังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เปลี่ยนทิศทางไปสู่การเป็นโรงฝึกอาชีพ แหล่งรวมของหลักสูตรฟอกคน การแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงลูกค้า มากยิ่งขึ้น โดยอ้างหลักการของความคุ้มค่าในการบริหารจัดการงบประมาณและพันธะทางสังคมต่อผู้เสียภาษีเป็นสำคัญ
   

คงไม่มีครูบาอาจารย์ท่านใดปฏิเสธพันธะทางสังคม หากแต่การนำเอา “เงิน” หรือ งบประมาณมาเป็นหัวใจของการตรวจสอบและประเมินคุณภาพ เป็นเทคนิควิทยาแห่งอำนาจที่มุ่งกดบังคับ “นักวิชาการ” ให้คล้อยตาม และกลายเป็นพนักงานที่เชื่องเชื่อ  และเป็นแนวคิดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วในการแปรสภาพมหาวิทยาลัยชั้นนำในอังกฤษ ให้กลายมาเป็นสถาบันสอนภาษาตามซอกมุมต่างๆของโลก  ภาษาของการตรวจสอบบัญชี การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ประสิทธิภาพและคุณภาพ เป็นเพียงตัวเบิกนำเพื่อยึดครอง ครอบงำ บงการ กำหนดขอบเขตหน้าที่และพันธะทางสังคมของมหาวิทยาลัยด้วยมาตรฐานเดี่ยวอย่างตายตัว ในขณะ เดียวกัน อิสรภาพทางวิชาการ วัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ หน้าที่ในการเป็นสำนึกให้กับสังคม  การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล การรักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม  และการเป็นกระบอกเสียงให้กับคนชายขอบที่ไร้เสียง ไร้สิทธิ กำลังถดถอยลงไปทุกวัน  การทำงานวิจัยเริ่มมีความหมายที่แคบลงกลายเป็นเพียงการทำงานเพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สามารถวัดได้ด้วยเงิน  ความรู้กำลังถูกลดค่าลงเป็นเพียงปริญญาบัตรสำหรับให้คนมีเงินมาซื้อไปเป็นใบเบิกทางในสงครามแย่งชิงการงานและการเลื่อนตำแหน่ง  การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับความจริง ความดี ความงาม ความเป็นมนุษย์ การตั้งคำถามกับความเป็นไปของสังคม การแสวงหาทางเลือกใหม่ๆให้กับสังคม กำลังเสื่อมสลายลงไปอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยกำลังจะแปรสภาพมาเป็นสุสานแห่งปัญญา ที่ซึ่งพนักงานมหาวิทยาลัยทำงานตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายไปวันๆอย่างเชื่องเชื่อ กรอบของการทำงาน ภาระงานและประสิทธิภาพในการทำงานถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน ทุกคนทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนสูงขึ้นและได้งบประมาณมากขึ้น ไม่มีเวลาหยุดคิด วิพากษ์ตนเอง และสำรวจตรวจสอบเรื่องไร้สาระอย่างเช่นพันธะรับผิดชอบที่มหาวิทยาลัยเคยมีต่อสังคม

Yos Santasombat, Ph.D. <santasombat@yahoo.com>
Professor of Anthropology,
Chair of Ph.D. Program in Social Sciences, Chiang mai University.
And Senior Research Scholar, Thailand Research Fund.

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

เอกสารอ่านประกอบวิชา ร. 406

เอกสารอ่านประกอบวิชา ร. 406: สัมมนาสตรีกับการเมือง (การเมืองของเพศสภาพและเพศวิถี Politics of Gender and Sexuality)
ของ รศ.ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ภาค1/2549


Sex/Gender/Sexuality and 'Sex Debate' in Feminism
1. Ann Oakley, "Sexuality" in Feminism and Sexuality: A Reader
2. Diane Richardson, "Sexuality and Feminism"
3. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, "ไทยศึกษากับออิตถีศาสตร์พินิจ"
4. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, "ภาษาเพศ: อำนาจ เรื่องทางเพศ กับพหุนิยมทางจริยศาสตร์"

 

Radical Feminism and Personal Politics
1. Shulamith Firestone, "The Dialectic of Sex"
2. Catherine Mackinnon, "Sexuality, Pornography and Method: Pleasure under Patriarchy"
3. Stevi Jackson and Sue Scott, "Sexual Skirmishes and Feminist Factions," in Feminism and Sexuality: A Reader

 

Legitimate Sex and Politics of Sexuality
1. Gayle Rubin, "Thinking Sex"
2. Judith Walkowitz, "The Politics of Prostitution," in Feminism and Sexuality: A Reader
3. Linda LeMoncheck, Loose Women, Lecherous Men: A Feminist Philosophy of Sex

 

Ideal Body/ Beauty/ Bodily Pleasure
1. Sharlen Hesse-Biber, Am I Thin Enough Yet?: The Cult of Thinness and the Commercialization of Identity
2. Susan Bordo, "The Body and the Reproduction of FemininityW in Unbearable Weight
3. Sandra Lee Bartky, "Foucault, Femininity, and the Modernization of Patriarchal Power"

 

Romantic Love/ Marriage/ Monogamy
1. Elaine Hoffman Baruch, Women, Love and Power
2. Meredith F. Small, What's Love Got to Do with It?
3. E.J. Graff, What is Marriage For?

 

Sexual Fantasy and Censorship
1. Brian Mcnair, Mediated Sex: Pornography and Postmodern Culture
2. Elizabeth Cowie, "Pornography and Fantasy: Psychoanalytic Perspectives"

 

Sex for Sale: Prostitution and Sex Work
1. Maggie O'Neill, Prostitution and Feminism, Ch 1, 5
2. Martha Nussbaum, "Whether from Reason or Prejudice: Taking Money for Bodily Services"

 

Gender Identity/ Sexual Identity
1. Judith Lorber, "Embattled Terrain: Gender and Sexuality"
2. Adrienne Rich, "Compulsory Heterosexuality and Lesbian Existence," in Feminism and Sexuality: A Reader
3. Diane Richardson, "Constructing Lesbian Sexualities," in Feminism and Sexuality: A Reader
4. Elizabeth Weed and Naomi Shcor, Feminism Meets Queer Theory

Pornography หนังสือต้องห้าม

ในบทความนี้จะขอใช้คำว่า “Pornography” ทั้งหมด เนื่องจากนิยามของคำว่า “สื่อลามกอนาจาร” ในภาษาไทยมีความหมายรวมไปถึง “Obscenity” และ “Nude” รวมทั้งสิ่งที่อุจาดหรือลามกอนาจารของเอเชียนั้น คือการกระทำของบุคคลในพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะสมหรือต้องห้าม ไม่ใช่คุณลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ติดกับภาพ, เสียง, หรือวัสดุอุปกรณ์ใดๆ (อ่านเพิ่มเติมที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2548 หน้า 30)

อันตรายจาก Pornography

Pornography นั้นมาจากภาษากรีกโบราณว่า Porne แปลว่า โสเภณี และ Graphos แปลว่า งานเขียน ดังนั้นPornography จึงหมายถึง งานเขียนที่พูดถึงโสเภณี หากแต่คำว่า Pornography ในความหมายเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงค.ศ. 1530 จากผลงาน Postures ของ Pietro Aretino จิตรกรชาวอิตาลีผู้แต่งกลอน วาดภาพ และแกะสลักเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศอย่างเปิดเผย ต่อมาพัฒนาการทางด้านการพิมพ์ การถ่ายภาพ ตลอดจนการผลิตภาพยนตร์ จึงทำให้สื่อที่นำเสนอเรื่องราวกิจกรรมทางเพศมีความละเอียดซับซ้อนและสมจริงมากยิ่งขึ้น[1] จนขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมและธุรกิจทางเพศที่มีผลประโยชน์และผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

การมอง Pornography เป็นภัย เกิดจากทัศนะที่ว่าเรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องสกปรกและอันตราย[2] เพศเป็นสิ่งชั่วร้าย (Original Sin) เพศเป็นสิ่งที่ทำให้อดัม (Adam) และอีฟ (Eve) ถูกพระผู้เป็นเจ้า ขับไล่ออกจากสวนอีเดน[3] เนื่องจากผู้หญิงได้ชักชวนให้ผู้ชายทำบาป เพราะความสวยของเธอ ผู้ชายจึงเปรียบเสมือนลูกแกะที่บริสุทธิ์แต่ต้องแปดเปื้อนด้วยน้ำมือของผู้หญิง ผู้หญิงสวยนั้นแท้จริงแล้วคือปีศาจ ความเป็นเพศหญิงจึงมีอำนาจในการหลอกลวง ความสวยงามของผู้หญิงเป็นต้นตอแห่งความชั่วร้าย สิ่งนี้เป็นสภาวะที่อดัมต้องเผชิญหน้ากับความสวยงามของอีฟที่เกิดขึ้นจากฝีมือของปีศาจ เมื่อความงามเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญ[4] หนทางแก้ไขก็คือการใส่เสื้อผ้าจึงมีไว้ปกปิดร่างกายที่แสนชั่วร้ายของมนุษย์ไม่ให้ออกมาสู่สายตาของผู้คน[5] โดยเฉพาะการควบคุมการแต่งกายของผู้หญิงให้ใส่ผ้าคลุมหรือคลุมทุกส่วนของร่างกายผู้หญิง เพราะแม้กระทั่งเท้าของผู้หญิงก็สามารถก่อให้เกิดความต้องการทางเพศขึ้นมาได้ ทำให้การเปิดเท้าจึงเท่ากับเป็นการเปิดอวัยวะเพศให้ผู้อื่นเห็นนั่นเอง[6]

กิจกรรมทางเพศที่เป็นบาปในสายตาของศาสนจักรมีสามระดับ ได้แก่ เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานและการข่มขืนเป็นบาปที่รุนแรงน้อยที่สุด เนื่องจากการกระทำดังกล่าวยังสามารถก่อให้เกิดการมีบุตรในที่สุด ความผิดระดับที่สอง คือ การคบชู้ในกลุ่มคนที่แต่งงานแล้ว และเพศสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติ ความผิดที่ร้ายแรงที่สุด คือ กิจกรรมทางเพศที่ไม่ก่อให้เกิดการสืบพันธุ์ เป็น “บาปที่ขัดต่อธรรมชาติ” ประกอบด้วย การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง การรักร่วมเพศ และการร่วมเพศกับสัตว์ การกระทำเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการต่อต้านพระเจ้า[7]

ขณะเดียวกัน การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองไม่เพียงแต่เป็นการทำบาปที่ขัดต่อธรรมชาติที่กระทำต่อตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นบาปที่กระทำต่อผู้อื่นด้วย เพราะในขณะที่กำลังสำเร็จความใคร่อยู่นั้น ผู้กระทำก็จะจินตนาการว่าได้ไปร่วมเพศกับบุคคลอื่นๆ การจินตนาการว่าได้ร่วมเพศกับผู้อื่นนั้นเท่ากับเป็นการทำบาปด้วยการเป็นชู้กับผู้อื่นในทางจินตนาการ การกระทำดังกล่าวเป็นการทำให้ผู้อื่นสูญเสียพรหมจรรย์[8] ดังเช่น มาตรฐานของคริสต์ศาสนาในยุคกลาง ผู้หญิงที่บริสุทธิ์นั้นไม่ใช่เพียงแค่ผู้หญิงที่ไม่เคยร่วมเพศกับใคร แต่ผู้หญิงคนนั้นต้องไม่คิดและอยากที่จะร่วมเพศกับใคร รวมทั้งไม่เป็นที่ปรารถนาทางเพศของใครด้วย[9] ดังนั้น ไม่ว่าพฤติกรรมใดที่นำไปสู่การเกิดพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการมีลูกเพียงอย่างเดียวแล้วย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง[10] หากแต่ Pornography กลับเป็นสื่อที่เต็มไปด้วยการเปลือยกาย การแสวงหาความสุขทางเพศ และกิจกรรมทางเพศที่ไม่ได้นำไปสู่การมีลูกนั้น Pornography จึงเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายและอันตรายอย่างยิ่ง

ในสายตาของพวกสตรีนิยม Pornography มิได้หมายความถึงสื่อที่แสดงให้เห็นถึงอวัยวะเพศหญิง หรือการร่วมเพศตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปแต่ประการใด หากแต่หมายถึงการทำลายสถานภาพและเกียรติภูมิของผู้หญิงที่ถูกลดระดับให้กลายเป็นแค่วัตถุที่พร้อมจะตอบสนองความรุนแรงที่ปรากฏออกมาในรูปแบบต่างๆ[11] ดังเช่น ภาพของนิตยสาร Hustler ในค.ศ.1977 ที่แสดงให้เห็นผู้หญิงที่ถูกจับใส่ลงไปในที่บดเนื้อ เหลือแต่สองขาโผล่ออกมา การแสดงออกในลักษณะดังกล่าวนี้ก็ถือว่าเป็น Pornography ที่จะนำไปสู่การกระตุ้นทางเพศได้[12]

Pornography คือภาพของผู้หญิงในรูปแบบที่ผู้ชายต้องการเห็น[13] ในฐานะวัตถุทางเพศ เพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้ชาย[14] สะท้อนเจตคติและความปรารถนาของผู้ชายที่มีต่อเรื่องเพศ[15] เป็นการกดขี่ทั้งระดับการเมืองและปัจเจก[16] รวมทั้งผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจทางเพศสภาพแบบชายเป็นใหญ่ หรือปิตาธิปไตย และเรียกสิ่งนั้นว่า “ความเป็นจริง” (The truth about sex)[17] เช่นเดียวกับที่ Andrea Dworkin เรียกสื่อลามกว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้หญิง” (Genocide against women)[18]

ผู้ชายที่บริโภค Pornography นั้นไม่ได้คิดเป็นเพียงแค่การจินตนาการเท่านั้น หากแต่นำไปสู่การปฏิบัติต่อผู้หญิงในโลกแห่งความเป็นจริงให้เหมือนผู้หญิงที่อยู่ใน Pornography[19] เช่น การใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ การข่มขืน ตลอดจนความรู้ความเข้าใจว่าเพศสัมพันธ์ คือ การถึงจุดสุดยอดของผู้ชายในตัวของผู้หญิงที่ตกเป็นเบี้ยล่าง[20] ดังนั้น ภาพของผู้หญิงที่ปรากฏในสื่อลามกจึงถูกมองว่าเป็นเหยื่อของการกดขี่ เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและการหลอกลวง โดยผู้หญิงจะไม่สมัครใจที่จะทำเช่นนั้นเอง[21]

ความเข้าใจว่าการข่มขืนเกิดจากสิ่งเร้าที่กระตุ้นความต้องการทางเพศของผู้ชาย ทำให้การควบคุมสื่อลามกเป็นเรื่องสำคัญ[22] เพราะสื่อเหล่านี้สร้างภาพผู้หญิงให้เป็นวัตถุทางเพศ[23] พวกสตรีนิยมจึงเห็นว่าสื่อลามกเป็นภาคทฤษฎี ส่วนการข่มขืนนั้นเป็นการปฏิบัติ[24] ดังเช่น Susan Brownmiller สรุปมายาคติในสังคมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อการข่มขืนไว้ว่า “ผู้หญิงทุกคนต้องการหรือมีความใฝ่ฝันที่จะถูกข่มขืน ไม่มีผู้หญิงคนไหนจะถูกข่มขืนได้ ถ้าผู้หญิงไม่ร่วมมือ ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดการข่มขืน”[25]

การข่มขืน แม้เป็นประสบการณ์เพียงครั้งเดียว แต่เหตุการณ์ครั้งเดียวนี้ได้รื้อทำลายพื้นฐานชีวิตของผู้หญิงที่ผ่านเหตุการณ์นั้นไปทั้งชีวิต บาดแผลทางจิตใจได้เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ เปลี่ยนทัศนะในการมองโลก เปลี่ยนการรับรู้เพศชาย และเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกทางเพศของผู้หญิงคนนั้นทั้งหมด[26] ผู้ชายใช้การข่มขืนเป็นเครื่องมือในการแสดงความมีอำนาจ กดขี่ และควบคุมผู้หญิง ด้วยการให้บทเรียนสั่งสอนให้ผู้หญิงรู้ว่า ถ้าผู้หญิงหัวแข็งไม่ก้มหัวให้ จะต้องถูกปราบแบบ “เหยื่อ”[27] การข่มขืนไม่ได้เกิดจาก “ปีศาจร้ายที่แฝงร่างอยู่ในตัวผู้ชายแต่ละคน” หากแต่เป็นเพราะ “ปีศาจร้ายของระบบที่ให้อำนาจชายเหนือหญิง” ที่แฝงอยู่ในโครงสร้างสังคม และปีศาจร้ายนี้พร้อมที่จะเข้าสิงร่างชายทุกคนไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาว มีอาชีพ อายุ หรือชั้นวรรณะใดก็ตาม หรือไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนชั่ว ผู้ชายทุกคนมีโอกาสที่จะถูกผีสิงและข่มขืนผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนแปลกหน้าหรือคนคุ้นเคย และไม่ว่าจะในกาลหรือเทศะใดก็ตาม[28]

ขณะเดียวกัน การข่มขืนคือการโจรกรรมขนาดใหญ่ เพราะถ้าข่มขืนผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานเท่ากับว่าเป็นการขโมยพรหมจรรย์ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดในชีวิตไป หรือการข่มขืนผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว การข่มขืนนั้นคือการขโมยสิทธิผูกขาดในการมีเพศสัมพันธ์กับเธอของสามีไปด้วยเช่นกัน[29] ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจและการให้คุณค่าต่อตัวเองของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นผู้หญิงที่ดีในความหมายของการระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่ไม่ใช่สามี ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจึงถูกมองและมองตนเองว่าแปดเปื้อน มีราคี มีคุณค่าต่ำลง นอกจากนี้สิทธิในการเลือกว่าจะมีหรือไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับใคร และการเชื่อมโยงความรักกับการมีความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของผู้หญิงส่วนใหญ่ ยังถูกสั่นคลอนทำลายไปเพราะการถูกบีบบังคับให้ร่วมเพศด้วย[30]

ทัศนะดังกล่าวนี้จึงทำให้พวกสตรีนิยมต่อต้าน Pornography และพวกกามวิตถาร เพราะกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องของผู้ชาย นอกจากนั้นเสรีภาพทางเพศที่ทำให้กิจรรมต่างๆ เหล่านี้งอกงามขึ้นล้วนแต่เป็นส่วนขยายของการได้เปรียบ หรือการมีอภิสิทธิ์ของผู้ชาย ขณะเดียวกัน ความคิดเห็นต่างๆ ในการต่อต้าน Pornography เหล่านี้จึงเท่ากับเป็นการส่งเสริมการมีศีลธรรมทางเพศแบบอนุรักษ์นิยมของคริสตศาสนาด้วยเช่นกัน[31]

Pornography และการขัดขืน

Pornography คือการแบ่งแยกเหยียดหยามและการใช้อำนาจ แสดงลักษณะมั่วสุม ไร้ระเบียบ ผิดที่ผิดทาง แสวงหาความสำราญทางเพศที่มีนอกเหนือจากสถาบันครอบครัว[32] โดยเนื้อหาของสื่อลามกที่ถูกมองว่าแปลกหรือไม่ปกตินั้น อาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งของความพยายามจะต่อสู้กับการจำกัดรูปแบบ และการแสดงออกเกี่ยวกับความพึงพอใจทางเพศของคนในสังคม ระบบความเชื่อ ความหมายเรื่องเพศที่ถูกควบคุมและจำกัดปริมาณ และรูปแบบของพฤติกรรมทางเพศของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงเท่านั้น แต่รูปแบบที่จำกัดนี้ไม่ครอบคลุมรสนิยมและความต้องการของคนจำนวนมาก[33]

สิ่งที่ปรากฏใน Pornography จึงอาจจะเป็นเพียงจินตนาการของคนในรูปแบบที่อยากทำ แต่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง และทำให้เส้นแบ่งเขตแดนของเพศสภาพและกฎเกณฑ์ทั้งหลายลางเลือนไป[34] เช่นเดียวกับในช่วงทศวรรษที่ 1960 การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อย ความเป็นเอกเทศของบุคคล[35] จากบรรทัดฐานของศาสนจักรและการแพทย์ที่นิยามโรคว่า “อาการบ้าที่เกิดจากการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง” (Masturbatory Insanity) ตามนักจิตวิทยาชาวอังกฤษ Henry Maudsley ที่เกิดขึ้นในค.ศ.1868 เรื่อยมา จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1920 วงการแพทย์ตะวันตกจึงยอมรับว่าการสำเร็จความใคร่ไม่ได้เป็นอาการผิดปกติแต่อย่างใด[36]

Pornography จึงเป็นทางออกด้านหนึ่งของผู้หญิงจากการเปลี่ยนสถานะ “ผู้ขาย” หรือเป็น “วัตถุทางเพศ” มาเป็น “ผู้ซื้อ” และ “ผู้กระทำ” ในธุรกิจทางเพศ[37] โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภค Pornography สำหรับผู้หญิง หรืออุปกรณ์เพิ่มความสนุกสนานทางเพศ (Sex Toy) ทำให้หลุดพ้นและเป็นอิสระจากความสัมพันธ์กับผู้ชายเพียงอย่างเดียว หรือทำให้ผู้ชายเป็นทาสของผู้หญิงใน Pornography ประเภทซาดิสต์-มาโซคิสต์[38] ขณะเดียวกันก็ทำให้สิ่งพิมพ์และอุปกรณ์ต่างๆ ก้าวพ้นจากสิ่งลามกอนาจารกลายเป็นเรื่องของสุนทรียะ[39] โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพศิลปะนั้น เป็นการนำเสนอสิ่งที่มากกว่าเนื้อหนังมังสา เพราะร่างกายนั้นไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า[40] และร่างกายนั้นไม่มีความต้องการทางเพศ[41]

Pornography จึงอาจจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการปลดปล่อยจินตนาการของมนุษย์ให้อิสระเสรีจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ในชีวิตจริง รวมทั้งการเชื่อมโยง Pornography เข้ากับความรุนแรงหรือการข่มขืนนั้น ยังเป็นประเด็นที่โต้เถียงกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย[42] ในเรื่องการผลิตซ้ำเรื่องความรุนแรงผ่านสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย หรือละครโทรทัศน์ที่ล้วนแต่มีความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคม เช่น การข่มขืนนางเอกของพระเอก ภายหลังนางเอกก็กลับมาตกหลุมรักคนที่ข่มขืนตนเอง ซึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการข่มขืนไปโดยปริยาย ตรงข้ามกับนางร้ายที่จะถูกใครก็ได้สักคนข่มขืน การข่มขืนนี้จึงเป็นการลงโทษทางสังคมทางสัญลักษณ์แก่ผู้หญิงชั่ว[43]

การควบคุม Pornography

การหาความสัมพันธ์ระหว่าง Pornography และการกระทำที่รุนแรงทางเพศนั้น เป็นสิ่งที่มีการถกเถียงกันอย่างมากเช่นเดียวกับประเด็นอื่นที่ยังไม่สามารถจะหาข้อยุติได้[44] เรื่องเพศกลายเป็นปัญหาสำคัญของรัฐชาติ เพราะเรื่องเพศสัมพันธ์ไม่ได้มีเพียงแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกิดและการตายเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของศีลธรรมอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นประชากรที่มีคุณภาพ[45]

ขณะเดียวกัน การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา Pornography ด้วยการออกกฎหมายควบคุมเพื่อเป็นการส่งเสริมคุณภาพ ความสุข ความเจริญ ตลอดจนวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง[46] การควบคุม Pornography และเนื้อหาประเภทนี้จึงเป็นการบังคับให้คนอยู่ในร่องในรอยเรื่องเพศ โดยจำกัดความต้องการและรูปแบบความพึงพอใจของคนซึ่งแตกต่างหลากหลาย และเป็นการควบคุมแม้กระทั่งจินตนาการของมนุษย์[47] ทั้งนี้การอ้างถึงความจำเป็นในการควบคุมสื่อต่างๆ เหล่านี้นั้นย่อมจะส่งผลไปถึงปัญหาของการควบคุมสื่อทางการเมืองตลอดจนข่าวสารชนิดอื่นๆ ด้วย เหตุผลที่รัฐมักจะยกขึ้นมาอ้างก็เป็นกรอบความคิดอันเดียวกัน คือ ความสงบสุขและความมั่นคงของสังคม ดังนั้น ด้วยเหตุผลของความจำเป็นแห่งรัฐจึงต้องมีการควบคุมกิจกรรมที่เป็นภัยดังกล่าว[48] ดังเช่น การประกาศหนังสือต้องห้าม

การออกประกาศหนังสือต้องห้ามจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบกิจคุณงามความดีสูงสุดของผู้ที่มีความจงรักภักดีในแผ่นดินและบ้านเมือง เนื่องจากผู้คนในบ้านเมืองมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของความรู้ สติปัญญา สถานภาพ อาชีพ และระดับจิตใจที่ประสงค์กระทำดีต่อรัฐ และสถาบันทางการเมืองที่ดำรงอยู่ภายในรัฐ ดังนั้น เพื่อการสกัดกั้นมิให้คนดีกลายเป็นคนเลว เพื่อไม่ให้คนเลวกลายเป็นคนเลวมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งเพื่อไม่ให้ความรู้ที่ไม่ถูกต้องคือมิจฉาทิฐิดำรงอยู่และแพร่กระจายออกไป อันจะกลายเป็นชนวนของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางตกต่ำในอนาคต การออกประกาศมิให้เอกสารดังกล่าวเป็นที่เผยแพร่ในหมู่สาธารณชนจึงได้ดำเนินไปด้วยความสมเหตุสมผล[49]

การควบคุมหรือการสนับสนุนให้ Pornography อยู่ในฐานะหนังสือต้องห้าม จึงยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าควรจะดำเนินการเช่นใดต่อไปภายใต้การต่อสู้เรื่องสิทธิของปัจเจกชน ผลกระทบต่อผู้อื่น และความมั่นคงของรัฐชาติ

ขณะเดียวกันการศึกษาเรื่อง Pornography ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญบนพื้นฐานความสัมพันธ์ชายหญิงมากกว่าเพศวิถีอื่น จนกลายเป็นความรู้ความเข้าใจที่มีต่อความสัมพันธ์ทางเพศไปทั้งหมด ดังคำกล่าว

ผมนึกถึงตัวอย่างอคติทางเพศที่มีในงานวิชาการ แล้วไปมีผลต่อชีวิตคนได้อีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือเรื่องกามารมณ์ เคยสังเกตไหมครับว่า ส่วนใหญ่ของหนังสือโป๊ (ทั้งบนแผงและใต้แผง) ทำขึ้นเพื่อผู้ชาย ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเป็นอย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของตลาด ยิ่งพลิกไปดูเนื้อหา ยิ่งพบว่าผู้หญิงในหนังสือโป๊มักไม่มีตัวตน หมายความว่าเป็นฝ่ายถูกกระทำและตอบสนองความปรารถนาของผู้ชายหมด หล่อนไม่มีความประสงค์, ความชอบ, รสนิยม หรือ “กามวิตถาร” ของตนเองเลย ทั้งนี้ เพราะความรู้ความเข้าใจของเราที่มีต่อกามารมณ์นั้นเป็นข้อสังเกตและศึกษาจากผู้ชายทั้งสิ้น แล้วแพร่อคตินี้ผ่านหนังสือโป๊, นวนิยาย, ละครทีวี, วิชาเพศศึกษา, ฯลฯ จนกลายเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ... เหตุดังนั้น ผู้หญิงที่อยากอ่านหนังสือโป๊หรือดูหนังโป๊ จึงต้อง “อาศัย” สินค้าที่ผลิตขึ้นจากมุมมองของเพศชายเท่านั้น ซึ่งยิ่งตอกย้ำความไม่มีตัวตนของผู้หญิงในกามารมณ์มากขึ้นไปอีก กลายเป็นวัฒนธรรมทางกามารมณ์ที่เพศหญิงรับเอาไปเป็นของตัวโดยปริยาย

นิธิ เอียวศรีวงศ์[50]

ขณะเดียวกัน Pornography ที่มีเพศวิถีแบบอื่นนอกจากความสัมพันธ์ชายหญิงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Pornography สำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจางหายไป Pornography ที่สร้างขึ้นมาโดยเพศวิถีต่างๆ จึงล้วนแต่มีความสำคัญในการช่วงชิงพื้นที่สาธารณะและภายในเพศสภาพเดียวกัน เช่น หญิงรักหญิง กับ หญิงรักชาย ว่าเพศวิถีของตนเองดำรงอยู่ และสิ่งเหล่านี้เป็นทางเลือกในการผลิตความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ของตนเองที่แตกต่างจากความสัมพันธ์ชายหญิง[51]

เอกสารอ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ. 2543. ความเรียงว่าด้วยสตรีกับสื่อมวลชน. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. 2539. ข่มขืน: ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย. รัฐศาสตร์สาร. 19,3: 161-183.

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. 2544. โลกานุวัตรกับเซ็กส์ที่ชอบธรรม: พันธนาการที่ไร้พรมแดน. ใน เซ็กส์ข้ามชาติ เซ็กส์อินเตอร์เน็ต. โครงการวิถีทรรศน์. หน้า 177 – 190. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

ธเนศ วงศ์ยานนา. 2529-2530. บทส่งท้ายตระกะของการกดบังคับ: ฟูโก้และเฟมินิสต์. รัฐศาสตร์สาร ฉบับพิเศษ: ปรัชญาและความคิด. 12-13: 166-178.

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2541. ผู้หญิงและอำนาจ: การเขียนแบบผู้ชาย. ใน สตรีศึกษา1: ผู้หญิงกับประเด็นต่างๆ. คณะอนุกรรมการการศึกษา อาชีพ และวัฒนธรรม คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี. หน้า 165 – 215. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2547. การจัดระเบียบเพศในศิลปะ: จากภาพนู้ดสู่ภาพระดับX. รัฐศาสตร์สาร. 25, 2: 204-223.

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. 2549. (การร่วม) เพศนอกสถาบันการแต่งงานในฐานะ ‘ระเบิด’: จากประวัติศาสตร์ ‘การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง’ ถึง ‘เพศศึกษา’ ... เมื่ออุดมการณ์ประสานกับวิทยาการทางแพทย์. รัฐศาสตร์สาร. 27, 3: 1-55.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และบุศรินทร์ โตสุขุมวงศ์. 2539. พิเคราะห์หนังสือต้องห้ามของไทย. รัฐศาสตร์สาร. 19, 3: 110-138.

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. 2545. ตำนานสวนสาธารณะกับเรื่องเล่าของชาวเกย์กรุงเทพในพรมแดนเทคโนโลยีสื่อสาร. รัฐศาสตรสาร. 23, 1: 77-116

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. 2547. เปลือยนายแบบ: หนังสือโป๊และกามารมณ์ในชีวิตเกย์ไทย. รัฐศาสตร์สาร. 25, 2: 165-203

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2545. ว่าด้วย “เพศ”: ความคิด ตัวตน และอคติทางเพศ ผู้หญิง เกย์ เพศศึกษา และกามารมณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2548. ลามกอนาจาร. มติชนรายสัปดาห์. 25, 1285: 30

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2549. วิกฤตเสื้อคับ. มติชนรายสัปดาห์. 26, 1356: 33

สมสุข หินวิมาน. 2545. ละครโทรทัศน์: เรื่องของ “ตบๆ จูบๆ” และ “ผัวๆ เมียๆ” ในสื่อ “น้ำเน่า” ใน สื่อบันเทิง: อำนาจแห่งความไร้สาระ. หน้า 173-247. ออล อเบ้าท์ พริ้นท์

Cowie, Elizabeth. 1993. Pornography and Fantasy: Psychoanalytic Perspective. In Sex Exposed: Sexuality and the Pornography Debate. Pp.132-152. Rutgers University Press

MacKinnon, Catharine. 1992. Pornography, Civil Rights, and Speech. In Feminist Philosophies: Problems, Theories, and Applications. Pp.295-308. New York: Prentice Hall.

McElroy, Wendy. 2006. Michel Foucault and Pornography [Online]. Available from: http://www.zetetics.com/mac/eris.html [2006, Apr 20]

Mcnair, Brain. 1996. Mediated Sex: Pornography and Postmodern Culture. A Hodder Arnold Publication


[1] นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2547: 166-167

[2] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 168

[3] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2549: 17

[4] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 182

[5] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 182; 2549: 17

[6] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 182

[7] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 198-199

[8] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2549: 22

[9] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 191, 193; 2549: 22

[10] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 183

[11] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 167-168; MacKinnon, 1992: 299-300; McElroy, 2006: 6

[12] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 167-168

[13] MacKinnon, 1992: 297-300

[14] Cowie, 1992: 132

[15] Cowie, 1992: 132; นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2547: 168

[16] McElroy, 2006: 2

[17] MacKinnon, 1992: 297-300

[18] McElroy, 2006: 3

[19] MacKinnon, 1992: 301

[20] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2531: 174-175; MacKinnon, 1992: 304

[21] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2544: 188;นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2547: 169

[22] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2539: 164

[23] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2539: 174

[24] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 167-168

[25] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2539: 166

[26] กาญจนา แก้วเทพ, 2543: 120

[27] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2539: 168; กาญจนา แก้วเทพ, 2543: 130

[28] กาญจนา แก้วเทพ, 2543: 130

[29] นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2545: 75

[30] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2539: 170

[31] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 168-169

[32] Mcnair, 1996: 91; นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, 2547: 168-169

[33] Cowie, 1993: 137; ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2544: 188; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2547: 222

[34] Cowie, 1993: 137; ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2544: 188; ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2547: 222

[35] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2549: 42-44

[36] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2549: 40

[37] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 169; 2549: 42-44

[38] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 169; 2549: 42-44; Mcnair, 1996: 91, 96

[39] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 169; 2549: 42-44; Mcnair, 1996: 91

[40] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 207

[41] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2541: 210

[42] นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2549: 33

[43] สมสุข หินวิมาน, 2545: 214-215

[44] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 168; ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2544: 188

[45] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2549: 2

[46] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 168

[47] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2544: 188

[48] ธเนศ วงศ์ยานนาวา, 2529-2530: 168

[49] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และบุศรินทร์ โตสุขุมวงศ์, 2539: 126-127

[50] นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2545: 54-55

[51] Mcnair, 1996: 100-101

 

งานชิ้นนี้เป็นงานในช่วง 2549 ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับการอ้างอิง แต่เหมาะสำหรับการอ่านเบื้องต้น ก่อนไปหาต้นฉบับมาอ่านเพิ่มเติมเท่านั้น เนื่องจากมีผลงานวิชาการหลายชิ้นที่น่าสนใจออกมาภายหลังงานชิ้นนี้จำนวนมาก

ขณะเดียวกันบทความนี้เคยอัพขึ้นนานแล้ว แบบไม่มีอ้างอิงเชิงอรรถ ด้วยความกลัวว่าจะถูกนำไปใช้ หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป ไฟล์เดิมหาย แต่ยังดีที่หาแบบ Hard Copy ได้ เลยมานั่งพิมพ์เชิงอรรถเพิ่ม และได้เพิ่มบางส่วนจากเดิมด้วย ดังนั้นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะไม่เกิดกรณีที่ทำให้ต้องลบออกเฉกเช่นบทความอื่น