วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

YAOI ที่ไม่ใช่แค่ผู้หญิง?

ตั้งแต่ช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ก็มีคิดเรื่องกลุ่มประชากรที่ผลิต/ติดตาม YAOI ที่ไม่ได้มีเพศสรีระเป็นผู้หญิงอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ด้วยไฟลนก้นกลัวไม่จบ และไม่เจองานวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้มาก่อนก็เลยทิ้งไป แต่พอได้อ่านบทความ MOE TALK: Affective Communication among Female Fans of Yaoi in Japan ของ Patrick W. Galbraith ถึงได้ค้นพบว่ามีการศึกษาตามกลุ่มประชากรไว้อย่างน่าสนใจ ตามEndNote 3

- Straight women
- Lesbians
- Men in women's bodies
- Gay Men
- Straight men

โดยส่วนตัวกำลังคิดถึงกลุ่ม TG แฮะ แต่กลุ่มนี้ก็นิยามยากว่าต้องแบ่งเฉดออกตามสรีระที่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือเปล่า แล้วกลุ่ม Lady Boy อีกล่ะ อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่น่าสนใจอีกแง่นะเนี่ย

ที่จริงก็เคยมีน้องคนหนึ่งที่จะมาศึกษาเรื่องความแตกต่างระหว่างกลุ่มเกย์กับผู้หญิงไป แต่พอคิดถึงข้อจำกัดหลายๆ ด้าน ก็เปลี่ยนหัวข้อไปซะงั้น หรือใครจะเอาประเด็นนี้ไปศึกษาก็น่าสนใจไม่หยอกนะ

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

การ์ตูนญี่ปุ่นที่ไม่ใช่แค่ Manga

การ์ตูนญี่ปุ่นไม่ได้แบ่งออกเป็นเพียง Manga การ์ตูนรวมเล่ม และ Animation การ์ตูนเคลื่อนไหวเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วการ์ตูนญี่ปุ่นมีคำเรียกขานที่ระบุตามบริบทและช่วงเวลา ดังเช่น Toba-e ตั้งตามชื่อของพระภิกษุที่วาดการ์ตูน Chojugiga (Animal scrolls) เกี่ยวกับกระต่าย ลิง จิ้งจอก และกบเพื่อล้อเลียนรูปแบบการปกครองและศาสนาในศตวรรษที่ 12[1] ต่อมาในค.ศ.1702 Shumboku Ooka สร้างการ์ตูนในรูปแบบเล่มขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า Tobae Sankokushi เล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันของชายหนุ่มในเกียวโต โอซาก้า และเอโดะ มีสีเดียวและมีตัวอักษรประกอบ จำหน่ายได้ประมาณพันเล่ม[2] จนกระทั่งค.ศ. 1887 George Bigot ได้ออกวารสารรายปักษ์ชื่อว่า TÔBAÉ (After Bishop Tobae) เสียดสีสังคมและรัฐบาลญี่ปุ่น[3]

ส่วนคำว่า Manga ปรากฏขึ้นครั้งแรก[4] ในสมัย Edo[5] ที่มีความนิยมในภาพพิมพ์ไม้และภาพ Ukiyo-e (Illustrations of the Floating World) จากผลงานของ Hokusai Katsuhika ในค.ศ. 1814  ที่วาดการเคลื่อนไหวของใบหน้า (Whimsical sketches) [6] ต่อมาในค.ศ.1940 Shin Nippon Mangaka Kyokai (New Cartoonists Association of Japan) ได้ออกวารสารรายเดือน Manga โดยมี Hidezo Kondo เป็นบรรณาธิการ แม้ว่าในช่วงนั้นจะขาดแคลนกระดาษ เนื่องจากอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งเดือนธันวาคม ค.ศ.1941 หลังสงครามPearl Harbor ทำให้วารสาร Manga เป็นพื้นที่แสดงการต่อต้านและตอบโต้ฝ่ายสัมพันธมิตร รวมทั้งเชิดชูจิตวิญญาณทหารญี่ปุ่น[7]

ขณะเดียวกัน GARO[8] Mandara (1992: 229 อ้างใน Kinsella, 2000: 29) ระบุว่า Manga ที่ใช้กันในบริบทปัจจุบันนั้น มีสองความหมาย คือ ใช้เรียกการ์ตูนญี่ปุ่นทุกรูปแบบ การ์ตูนเล่มและนิตยสารการ์ตูน มาจากรูปแบบของแนวคิด Gekiga[9] (Dramatic pictures) ในช่วงทศวรรษ 1950 ส่วนที่สองหมายถึง ความเป็นเด็ก ความน่ารัก จินตนาการ โดยได้อิทธิพลมาจากงานของ Tezuka Osamu[10] ซึ่ง Manga ในความหมายนี้จะมีลักษณะที่สะอาดและรูปแบบเหมาะสมกับเด็ก ในขณะที่ Gekiga สัมพันธ์กับผู้ใช้แรงงานที่ระดับการศึกษาน้อย และการเคลื่อนไหวทางการเมือง   

นอกจากนั้น Schodt (2002: 33-35) ระบุว่า แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นเรียกการ์ตูนญี่ปุ่นว่า Manga แต่ในวงการอุตสาหกรรมการพิมพ์จะใช้คำว่า Komikkusu (Comics’ itself) ทดแทนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเช่นการเรียกการ์ตูนอเมริกาจะเรียกว่า Ame-komi ที่ย่อมาจาก Amerikan komikkusu แต่คำว่า Manga มีลักษณะเป็นตราสัญลักษณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นไปทั่วโลกตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1990

ดังนั้นการเรียกสื่อสิ่งพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นด้วยคำว่า Manga ทั้งหมดนั้น จำเป็นต้องอาศัยบริบทที่เกี่ยวข้อง มากกว่าการเหมารวมทั้งหมด


[1] Schodt, 1986: 18, 28, 30; Schodt, 2002: 33-35
[2] Schodt, 1986: 36-37
[3] Schodt, 1986: 40
[4] Kinsella (2000: 20) ได้อ้าง Shimizu (1991: 18-20) ว่า Manga ปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วง ค.ศ. 1770 แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเพิ่มเติม แม้ว่าจะตรงกับสมัยเอโดะ แต่ไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาผลงานของ Hokusai ที่งานวิจัยต่างๆ มักจะยกว่าเป็นงานชิ้นแรกที่เป็นต้นกำเนิดของการ์ตูนญี่ปุ่น
[5] Schodt (1986: 32) ระบุว่า Edo อยู่ระหว่าง ค.ศ. 1600-1867 แต่หากนับตามการปกครองของ Tokugawa Ieyasu ที่รบชนะที่ Sekigahara ค.ศ.1600 แต่งตั้งตัวเองเป็นโชกุนในวันที่ 24 มี.ค. ค.ศ. 1603 และตั้งรัฐบาลที่เอโดะ (โตเกียวปัจจุบัน) จนถึง 3 พ.ค. ค.ศ. 1868 ที่ Tokugawa Yoshinobu ที่ลาออก จึงแตกต่างจากที่ Allison (2000: 57) ระบุว่าเป็นช่วง Tokugawa เล็กน้อย แต่พิจารณาจากผลงานของ Hokusai แล้วจึงนับได้ว่าเป็นทั้งสองยุค (อ่านเพิ่มเติมเรื่องยุคสมัยที่ ยุพา คลังสุวรรณ, 2547: 77-88)    
[6] Kinsella (2000: 20) ระบุว่าชื่อผลงาน Hyakumenso ของ Hokusai พิมพ์ในค.ศ. 1819 แตกต่างจาก Schodt (1986: 33) ที่ไม่ระบุชื่อผลงาน แต่ระบุว่าพิมพ์ระหว่างค.ศ.1814 และ 1878
[7] Schodt,1986: 55-56
[8] Nagai Katsuichi เริ่มทำนิตยสารการ์ตูน GARO ในปี ค.ศ. 1964 ผลงานที่มีชื่อเสียง คือ Kamuiden (The Legend of Kamui) โดย Shirato Sanpei ด้วยการนำเสนอมุมมองเชิงประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์ (Kinsella, 2000: 31)
[9] ใน ค.ศ. 1957 Tatsumi Yoshihiro ได้ใช้คำว่า Gekiga อธิบายการ์ตูนแนวใหม่ที่มีลักษณะสมจริง โครงเรื่องสะท้อนสังคมและการเมือง (Kinsella, 2000: 25)
[10] Tezuka Osamu ผู้บุกเบิกการ์ตูนญี่ปุ่นสมัยใหม่ ลายเส้นจะมีลักษณะดวงตาโต (Pie eyes) สัดส่วนของร่างกายผิดเพี้ยนไป โดยได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนของ Disney (Kinsella, 2000: 28) อ่านบทความเปรียบเทียบการ์ตูนของ Osamu และ Disney เพิ่มเติมที่ Homberg, 2013 

การสัมภาษณ์ และการขอไฟล์บทความ, วิทยานิพนธ์

หลังจากทำวิทยานิพนธ์แล้ว มีเมล์มาขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่อง YAOI อยู่บ้างเหมือนกัน เช่นเดียวกับขอไฟล์ทั้งในส่วนของบทความและวิทยานิพนธ์ เลยขอชี้แจงในที่นี้

1. การขอสัมภาษณ์
- โดยส่วนตัวมีปัญหาเกี่ยวกับการถอดบทสัมภาษณ์มาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นในวิทยานิพนธ์ของคนอื่น หรือแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ ที่บางฉบับไม่ได้ให้สัมภาษณ์เป็นคำพูด เป็นการโต้ตอบผ่านอีเมล์ แต่ก็ยังโดนตีความแปลกๆ อยู่ดี ที่ขำไม่ออก คือ ก่อนสัมภาษณ์ก็ให้สัญญาดิบดีว่าจะให้ดูก่อนตีพิมพ์เผื่อจะทักท้วงอะไร แต่ปรากฏว่าหายเงียบไป มาเจออีกทีก็นะ…

2. ขอไฟล์บทความ
- บทความทั้งสองชิ้นที่อัพชื่อและรายละเอียดลงใน https://independent.academia.edu/yanathornjiararattanakul โดยส่วนตัวก็มองว่าหาโหลดยาก เพราะเอกสารประกอบการประชุมทั้งสองครั้งก็นานมาก แล้วก็จำกัดอยู่แต่ในแวดวงเท่านั้น แม้ว่าจะมีการตีความใหม่ในวิทยานิพนธ์ แต่คิดในอีกแง่หนึ่งก็จะเป็นแหล่งที่ทำให้ไปสืบค้นต่อจากในส่วนของบรรณานุกรมก็แล้วกัน

3. ขอไฟล์วิทยานิพนธ์
- เนื่องจากปัญหาเรื่องการคัดลอกวิทยานิพนธ์ยังไม่จบสิ้น (ขนาดไม่มีไฟล์ให้ดาวน์โหลด นอกจากฐานข้อมูลจุฬานะเนี่ย) สามารถไปดูตัวเล่มมีอยู่ที่หอสมุดของจุฬา และธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

4. บทความใหม่

- ที่จริงหลังจากเกิดเรื่องคัดลอกวิทยานิพนธ์ ก็ได้รับการติดต่อมาจากอาจารย์สายัณห์ว่าสนใจเขียนบทความไหม (แม้ว่าโครงการจะพับลงไปไม่มีกำหนด เนื่องจากปัญหาการเมืองกับนิตยสาร) แต่เหนืออื่นใด คือ ไม่สามารถจัดสรรเวลาได้ การกลับมาเขียนบทความใหม่ ทำให้ค้นพบความต่อเนื่องของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ YAOI ที่ตัวเองสงสัยมาพอสมควร แต่หาคำตอบไม่ได้ในช่วงเวลาที่ทำวิทยานิพนธ์ (ไม่ได้ติดตามของไทยเท่าไหร่) กลายเป็นว่ายิ่งฟุ้ง จนได้รับไอเดียจากอาจารย์ว่าให้เขียนลงบลอคเป็นส่วนๆ ก่อนก็ได้ น่าจะทำให้เกิดไอเดียที่เป็นรูปร่างได้มากกว่านี้ ดังนั้นหลังจากนี้จะพยายามนำเสนอไอเดียที่ได้มาให้ทดลองอ่านกันดูแล้วกันนะคะ