วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551

นิธิกับโพสต์โมเดริ์น

อย่างไรก็ตาม จะมีคำถามเกิดขึ้นในใจของผู้อ่านงานประเภทนี้ นั่นคือ “แล้วยังไง?” เหมือนการอ่านงานในสำนักคิด “หลังสมัยใหม่” ทั่วไป ในทัศนะของผู้เขียนคำนำ นี่เป็นคำถามที่ห้ามถาม เพราะจุดมุ่งหมายหลักของสำนักคิดนี้ไม่ต้องการจะสถาปนา “ความจริงใหม่” ขึ้นแทนที่ “ความจริงเก่า” ต้องการเพียงตรวจสอบทั้งข้อมูล ข้อสรุป ฐานคิดของสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็น “จริง” อย่างไม่ต้องสงสัยทั้งหลายเท่านั้น การสร้างความสงสัยแก่ข้อสรุปที่ถูกว่า “จริง” เหล่านั้น ช่วยปลดปล่อย ผู้คนจากอำนาจนานาชนิดที่ครอบงำตนเองอยู่โดยไม่รู้สึกตัว
นิธิ เอียวศรีวงศ์ (๒๕๕๑: คำนำเสนอ)

นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2551. คำนำเสนอ. ใน ทวีศักดิ์ เผือกสม. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2551

นิยาม Eugenics

คำว่า Eugenics ถูกใช้ครั้งแรกโดย Francis Galton ใน Herbert Spencer Lecture ที่บรรยาย ณ Oxford University เมื่อปี ค.ศ. 1907 Galton ใช้ Eugenics ในความหมายของศาสตร์แห่งการปรับปรุงกลุ่มประชากรให้มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ดี Galton ใช้คำนี้แทน Virculture ในความหมายที่มีนัยยะเดียวกัน ในประเทศอังกฤษ Eugenic Education Society ได้ถูกก่อตั้งในปี ค.ศ. 1907 เพื่อที่จะสนับสนุนให้ Eugenics มีความสำคัญในระดับชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ความรู้ให้กับพ่อแม่และผู้ปกครอง (Oakley, 1991: 166-167 อ้างใน ก้องสกล กวินรวีสกุล, 2545: 31, เชิงอรรถที่ 16)

แต่ทำไมหาใน wikipedia กลับบอกว่า Galton ใช้คำนี้เป็นครั้งแรกในหนังสือ Inquiries into Human Faculty and Its Development ค.ศ. 1883 ซึ่งเขาได้หมายถึง "to touch on various topics more or less connected with that of the cultivation of race, or, as we might call it, with 'eugenic' questions." พร้อมเชิงอรรถ “Eugenic”:
That is, with questions bearing on what is termed in Greek, eugenes namely, good in stock, hereditary endowed with noble qualities. This, and the allied words, eugeneia, etc., are equally applicable to men, brutes, and plants. We greatly want a brief word to express the science of improving stock, which is by no means confined to questions of judicious mating, but which, especially in the case of man, takes cognizance of all influences that tend in however remote a degree to give to the more suitable races or strains of blood a better chance of prevailing speedily over the less suitable than they otherwise would have had. The word eugenics would sufficiently express the idea; it is at least a neater word and a more generalized one than viticulture which I once ventured to use.

ต่อมาในค.ศ. 1904 เขาได้ให้คำนิยาม Eugenics ว่า "the science which deals with all influences that improve the inborn qualities of a race; also with those that develop them to the utmost advantage.”

สิ่งที่ต้องทำต่อไป กลับไปหางานของ Oakley

บรรณานุกรม

ก้องสกล กวินรวีกุล. 2545. การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487. ปริญญานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (มานุษยวิทยา) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Oakley, Ann. 1991. “On Anti-Medicine and Clinical Reason” in Reassessing Foucault: Power, Medicine and the body. Colin Jones and Roy Porter (eds.) London: Routledge.

http://en.wikipedia.org/wiki/Eugenics

วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551

โครงการวิจัยเพศและการสื่อสารในสังคมไทยระยะที่ 2

รหัสโครงการ : RDG4730022
ชื่อโครงการ : โครงการวิจัยเพศและการสื่อสารในสังคมไทยระยะที่ 2
ชื่อนักวิจัย : วิลาสินี พิพิธกุล และกิตติ กันภัย
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
E-mail Address : Wilasinee.P@thaihealth.or.th
ระยะเวลาโครงการ : 1 มีนาคม 2547 – 28 กุมภาพันธ์ 2549

งานวิจัยเรื่องเพศและการสื่อสารในสังคมไทย (ระยะที่สอง) มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและวิเคราะห์ความหมายเรื่องเพศ วาทกรรมทางเพศ การประกอบสร้างมายาคติทางเพศ รวมทั้งสภาพปัญหาและผลกระทบของการสื่อสารเรื่องเพศในสังคมไทย อันจะนำไปสู่การสังเคราะห์ความรู้เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา ทั้งในระดับนโยบายและระดับการผลิตการสื่อสารเรื่องเพศที่เหมาะสมต่อไป

วิธีวิจัยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพด้วยเทคนิคการวิเคราะห์วาทกรรม การวิเคราะห์การเล่าเรื่อง และการวิเคราะห์สื่อด้วยวิธีสัญญวิทยา ข้อมูลหลักคือตัวบทจากสื่อวารสารสนเทศและสื่อมวลชน ได้แก่ อินเทอร์เน็ต สื่อนิตยสาร สื่อหนังสือการ์ตูน โฆษณาทางโทรทัศน์ ละครโทรทัศน์ และรายการเพลงทางโทรทัศน์ ในช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม พ.ศ. 2547
ข้อค้นพบจากการวิจัยมี 6 ประการหลัก คือ
1. สื่อทุกประเภทที่นำมาศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งโฆษณาสะท้อนมายาคติและวาทกรรมเพศวิถีที่เน้นการโหมเร้าอารมณ์ทางเพศด้วยการเสนอส่วนต่างๆ บนเรือนร่างมนุษย์ โดยเฉพาะเพศหญิงให้กลายเป็นความเซ็กซี่เกินความจริงตามธรรมชาติ มายาคติและวาทกรรมเหล่านี้ปฏิบัติการภายใต้กลไกการสื่อสารการตลาดและกลยุทธ์การโฆษณา ทำให้เกิดภาวะหลงใหลไปตามกระแสมายาคติซึ่งห่างไกลจากความเป็นจริงเกี่ยวกับเนื้อตัวและร่างกายมนุษย์ที่แท้

2. สื่อการ์ตูนแนวรักต่างเพศที่เลือกมาศึกษานำเสนอเรื่องเพศสัมพันธ์ที่โจ่งแจ้งเปิดเผย และเป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้เน้นเรื่องอารมณ์ความรัก แต่เสนอเรื่องการเสพสังวาสอันเกิดจากสัญชาติญาณ ภาวะไร้สำนึก และแรงขับทางเพศของผู้ผลิตสื่อเป็นหลัก สะท้อนโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างสองเพศ อย่างไรก็ตาม สำหรับการ์ตูนแนวรักเพศเดียวกันกลับนำเสนอแก่นเรื่องแนวความรักความผูกพันระหว่างตัวละครมากกว่า

3. วิธีการนำเสนอแบบเอดูเทนเมนต์ของสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งมีลักษณะคล้ายสื่อการสอนแต่ผสมผสานความบันเทิงเข้าไว้ด้วย ทำให้เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้เรื่องเพศที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียนหรือผู้แสวงหาความรู้ทั่วไป เว็บไซด์ยังเป็นสื่อที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงชุมชนเสมือนของกลุ่มคนที่มีเพศวิถีคล้ายคลึงกันอีกด้วย

4. สื่อทุกประเภทนำเสนอเพศวิถีอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะในมิติรสนิยมทางเพศ เพื่อคลี่คลายกรอบของเพศวิถีตามขนบเดิมที่มีเพียงความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายเท่านั้น ทั้งนี้โดยอาศัยกลไกทางการตลาดและโฆษณาที่เน้นการสร้างกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ผ่านระบบสัญลักษณ์และความหมายเฉพาะของกลุ่มทางเพศ

5. ขนบของการสื่อสารและวิธีการเล่าเรื่องในละคร โฆษณา และการ์ตูนทำให้เกิดอำนาจในการดำรงไว้ซึ่งโครงสร้างความสัมพันธ์แบบปิตาธิปไตยที่เพศชายเป็นผู้ชนะเสมอ การเล่าเรื่องในละครเน้นการลงโทษหรือกำจัดตัวละครผ่าเหล่าที่แสดงพฤติกรรมผิดเพี้ยนไปจากเพศสภาพตามที่สังคมชายเป็นใหญ่กำหนด ทั้งนี้เพื่อดำรงความสมดุลของระบบทางเพศเอาไว้

6. ความหมายเรื่องเพศที่จัดว่าเป็นความเชื่อแบบมายาคตินั้น เป็นความหมายที่สังคมรับรู้และห่างไกลจากความจริงไปทุกที มายาคตินี้ถูกกำหนดโดยวาทกรรมว่าด้วยความงามกับเพศสรีระ เพศวิถี และปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ในเรื่องเพศ การรับรู้บนฐานของมายาคติเช่นนี้จะนำมาซึ่งความรุนแรง การบริโภคที่เกินจริง การมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดศีลธรรม การเสพติดทางเพศ ก่อให้เกิดอวิชชาทางเพศ อันอาจจะนำไปสู่ความเสื่อมและการล่มสลายของมนุษย์และสังคมได้

ผลการวิจัยนำไปสู่ข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับรัฐ สื่อ ภาคประชาชนผู้บริโภคสื่อ และภาควิชาการ ได้แก่ การเตรียมพื้นที่สาธารณะให้เป็นเวทีในการนำเสนอเรื่องเพศที่หลากหลาย กระบวนการไต่สวนวาทกรรมและมายาคติเพื่อรื้อถอนโครงสร้างและชุดความหมายเรื่องเพศเดิม การทบทวนกระบวนทัศน์ หลักปรัชญา และจริยธรรมการตลาด การสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมบนฐานของการสร้างความรู้ใหม่ การเร้าสำนึกของผู้ผลิตสื่อให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนขนบการเล่าเรื่องแบบเดิม กระบวนการสร้างและพัฒนากลไกในการกำกับดูแลกระบวนการสื่อสารเรื่องเพศในสังคมไทย และการสร้างทักษะการสื่อสารให้กับผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศศึกษา

คำหลัก: เพศ การสื่อสารเรื่องเพศ สื่อทางเพศ วาทกรรมเพศ วัฒนธรรมเพศไทย

ที่มา: http://www.trf.or.th/research/abstract/Thai/RDG4730022.txt

วันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2551

Sex & Gender

การประชุมเชิงปฏิบัติการของกองทุนสหประชาชาติ เรื่อง Gender, Population and Development ใน ค.ศ.1996 (The Population Council, 1996) นิยามความหมายของคำว่า Sex และ Gender ดังนี้ Sex หมายถึง เพศที่กำหนดขึ้นโดยธรรมชาติ และข้อกำหนดทางสภาวะทางชีววิทยา ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ (ยกเว้นการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้เพียงบางส่วน) ให้บุคคลเกิดมามีเพศเป็นหญิงหรือชาย มีหน้าที่ในการให้กำเนิด (Reproductive function) และมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ส่วน Gender หมายถึง เพศที่กำหนดโดยเงื่อนไขทางสังคมหรือวัฒนธรรมให้แสดงบทบาทหญิงหรือบทบาทชาย ดังนั้นเพศที่ถูกกำหนดโดยสังคมนี้จึงอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวการณ์และเงื่อนไขของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าบทบาทดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกกำหนดขึ้นโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความแตกต่างทางสรีระของคนทั้งสองเพศก็ตาม แต่บทบาททางสังคมเหล่านี้เป็นสิ่งที่บุคคลได้เรียนรู้ผ่านแหล่งต่างๆ มาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งกลายเป็นแนวคิดที่ปลูกฝังลึกซึ้งในตัวของบุคคลนั้นๆ บทบาทเพศทางสังคม (Gender roles) ในลักษณะนี้จึงแตกต่างกันไปในสังคมแต่ละวัฒนธรรม นอกจากนี้ บทบาทที่สังคมกำหนด มีความหมายเกี่ยวพันไปถึงโอกาสที่บุคคลแต่ละเพศสามารถเข้าถึง ได้ใช้ และควบคุมทรัพยากรต่างๆ เพราะมีสิทธิ อำนาจ ความรับผิดชอบ และถูกคาดหวังจากสังคมต่างกันไป ส่วนที่สำคัญคือ บทบาทเพศที่สังคมกำหนดได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานภาพของหญิงและชายในสังคมนั้นๆ

ที่มา: ภัสสร ลิมานนท์. 2544. บทบาทเพศ สถานภาพสตรี กับการพัฒนา. ปรับปรุงใหม่ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 28

Manga

การ์ตูนญี่ปุ่นมีคำเรียกที่หลากหลาย เช่น

1) โทบะเอะ (Tobae: Toba pictures) ตามชื่อของพระภิกษุที่วาดการ์ตูนโชจูจิกะ (Chojugiga: Animal scrolls) เกี่ยวกับกระต่าย ลิง จิ้งจอก และกบเพื่อล้อเลียนรูปแบบการปกครองและศาสนาในศตวรรษที่ 12

2) กิกะ (Giga: Playful pictures)

3) เคียวกะ (Kyoga: Crazy pictures)

4) ปอนจิเอะ (Ponchie: Punch pictures)

5) มังงะ (Manga) โดยคำนี้เริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่ ค.ศ. 1890 เป็นต้นมา

ที่มา: Schodt, Frederik L. 1986. Manga! Manga! The world of Japanese comics. New York: Kodansha International Ltd.

Dojinshi

สื่อที่ไม่ได้เผยแพร่ผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือ โดจินชิ (Dojinshi) นั้น โดยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าโดจินชิ เป็นเพียงการ์ตูนหรือภาพล้อที่ผลิตและเผยแพร่โดยไม่ได้ผ่านสำนักพิมพ์เท่านั้น แท้จริงแล้วโดจินชินั้น มีความหมายครอบคลุมถึงวรรณกรรม การ์ตูน และผลงานทางวิชาการที่เผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ที่มีลักษณะไม่ทางการ เช่น บลอค (Blog) ซีดี (CD) สำเนาเอกสาร ฯลฯ

ที่มา: http://ja.wikipedia.org/wiki/

ได้รับการอนุเคราะห์จาก Nongrata แปลมาให้เจ้าค่ะ

วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

วิวัฒนการของนิตยสารสตรีไทย

วิวัฒนการของนิตยสารสตรีไทย สามารถแบ่งออกเป็น 5 ยุคได้แก่
1. ยุคการปลุกสำนึกในด้านการใฝ่หาความรู้และสิทธิของสตรีไทย (พ.ศ. 2431-มิถุนายน 2475)
2. ยุคมืดของนิตยสารสตรี (พ.ศ. 2475-2489)
3. ยุคตื่นตัวของนิตยสารสตรี (พ.ศ. 2490-2500)
4. ยุคนวนิยายพาฝัน (พ.ศ. 2501-2516)
5. ยุคข่าวสารและความหลากหลายของนิตยสารสตรี (พ.ศ. 2516-2531)

อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต และอวยพร พานิช. 2532. 100 ปีของนิตยสารสตรีไทย (พ.ศ.2431-2531). รายงานการวิจัยประกอบ Forum ผู้หญิงกับสื่อสารมวลชน ลำดับที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

The Cartoonist as God

ในญี่ปุ่น แพทย์ ศิลปิน อาจารย์ มักจะมีคำนำหน้าว่า Sensei (teacher, master) เสมอ แต่บางครั้งเด็กอายุ 18 ปีก็สามารถก็สามารถเป็นSenseiได้จากยอดขายการ์ตูนที่เพิ่งเริ่มวาดเป็นครั้งแรก ทำให้ในอุตสาหกรรมการ์ตูนนั้นจะมีคำนำหน้าที่หลากหลาย เพื่อเป็นการแบ่งแยกวัยวุฒิและสถานภาพ เช่น Sosho (slightly above sensei), Kyosho (great master, maestro), Osama (king) และ Kyoso (founder of a religion) ซึ่ง Osamu Tezuka ผู้บุกเบิกการ์ตูนญี่ปุ่นสมัยใหม่จะมีสมญานามพิเศษกว่าผู้อื่น คือ Manga no kamisama (God of Comics)

ที่มา: Schodt, Frederik L., 1986. Manga! Manga! the world of Japanese comics. Kodansha International Ltd. p.139

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2551

หนังสือพิมพ์ การ์ตูน

การ์ตูน
คำขวัญ เป็นหนังสือพิมพ์สำหรับชาวไทย
สำนักงานเลขที่ ๗๓๒ หน้าตลาดสด ถนนวรจักร์
นายธรรมเนาว์ จามรมาน เจ้าของและบรรณาธิการ
นายธัญญ์ อุทกานนท์ ผู้จัดการ-การเงิน
พิมพ์ที่โรงพิมพ์พัฒนกิจ ถนนจักรเพ็ชร์ (หน้าวัดเลียบ) จังหวัดพระนคร
ปีที่ ๑ เล่ม ๑ วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๔๖๘ ราคา ๑๐ สตางค์

อัตราค่าสมาชิก
๑ ปี ๖ บาท
๖ เดือน ๔ บาท

ตัวอย่างสาระบาน ปีที่ ๑ เล่ม ๑๐ วันพฤหัสบดีที่ ๔ มีนาคม ๒๔๖๘
๑ กิจการกรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม
๒ ปัญหาเรื่องเจ้าพระยารามฯ กับเงิน ๑๖ ล้านบาท
๓ เทศามณฑลปราจิณจะไม่ให้ความยุติธรรมแก่นายชิตบ้างหรือ?
๔ พระยาชลมารคพิจารณ์ (ต่อ)
๕ อัยการไม่ยอมฟ้องตัวเอง
๖ ภาพศรีทนนไชย
๗ หลวงมานิตนิยมการหกคะเมนเทียวหรือ?
๘ แจ้งความรวมคณะเมืองนอก

ภาพหน้าปกของหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่เป็นรูปรัชกาลที่ ๗ หรือภาพล้อเชิงการเมือง

ที่มา: ไมโครฟิล์ม ที่หอสมุดแห่งชาติ

โครงการอนุรักษ์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

โครงการอนุรักษ์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2507 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2548 ด้วยการถ่ายไมโครฟิลม์ โดยงบประมาณสนับสนุนของบริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ที่เก็บรวบรวมไว้ในหอสมุดแห่งชาติ ส่วนหนึ่งยังคงสภาพสมบูรณ์ บางส่วนมีสภาพชำรุด และบริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด ได้คัดเลือกถ่ายไมโครฟิล์มเฉพาะฉบับพิมพ์กรอบ 2 ดาว หรือ 4 ดาว หรือ 6 ดาว หรือตามต้นฉบับที่หอสมุดแห่งชาติได้เก็บรวบรวมไว้

ที่มา: ส่วนต้นของไมโครฟิล์มหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หอสมุดแห่งชาติ

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2551

ร่างพระราชบัญญัติปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ.....

ร่างพระราชบัญญัติปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ..... มีนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา และคณะเป็นผู้เสนอ (อ้างอิงจากหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๕๐๓/๔๗๕๑ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐)

คณะรัฐมนตรีฯ ได้พิจารณาร่างพรบ. ดังกล่าวแล้วส่งคืนมายังคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมกับข้อสังเกตดังนี้

คณะรัฐมนตรีเห็นว่าวัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ และมีบทบัญญัติที่ซ้ำซ้อนกับกฏหมายหลายฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เช่น ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๒๘๗ และมาตรา ๒๙๓ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๙๔ พระราชบัญญัติควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๐ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.๒๕๑๙ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ รวมทั้งร่างกฏหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาได้ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งมีหลักการแก้ไขความผิดเกี่ยวกับการทำให้แพร่หลายหรือการค้าวัตถุหรือสิ่งของลามกให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.... ซึ่งมีหลักการครอบคลุมถึงการปราบปรามเผยแพร่และการค้าวัตถุลามก จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้แต่อย่างใด(อ้างอิงจากหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๕๐๓/๔๗๕๑ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ และสรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๘ วันพฤหัสบดีที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๐)