วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553

เราต้องการระเบิดทางปัญญา

คำกล่าวนี้เป็นบทเกริ่นนำสัมภาษณ์ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ในนิตยสารสารคดี ฉบับที่๒๗๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ หน้าปก๑ศตวรรษธนาคารไทย

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ Open ที่เป็นสื่อทางความคิดด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เคยออกเป็นนิตยสารเมื่อสิบปีที่ก่อนแล้วต้องปิดตัวลง จนกระทั่งกลับมาอีกครั้งในรูปแบบเวบไซต์ที่ (http://www.onopen.com/)

ความน่าสนใจของบทความนี้ไม่ใช่ประเด็นเรื่องมุมมองที่มีต่อการรัฐประหาร หากแต่เป็นเรื่องตลาดหนังสือในเมืองไทยที่เป็นตัวชี้วัดสังคมอย่างหนึ่ง ดังประโยค "You are what you read"

คำถาม: ในฐานะคนทำหนังสือ สำนักพิมพ์ openbooks ไม่ประสบความสำเร็จเลยในเชิงธุรกิจ หนังสือก็ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ทำนิตยสารก็เจ๊งมาแล้ว ทำไมถึงยังยืนหยัดทำอยู่

คำตอบ: ข้อแรก เราต้องตัดเรื่องความสำเร็จหรือล้มเหลวออกไปก่อน เพราะทุกวันนี้เราถูกมายาคติของวิธีคิดการบริหารธุรกิจวัดผลความสำเร็จหรือล้มเหลวกันที่ผลกำไรหรือขาดทุนเท่านั้น ถ้าเอาตรงนี้มาจับมันเหลือประเด็นเดียว กำไรหรือขาดทุน กำไรเยอะแสดงว่าประสบความสำเร็จมาก ถ้าขาดทุนมากแสดงว่าคุณล้มเหลวสุดๆ ถ้าใช้วิธีคิดแบบนี้มองโลก ชีวิตและสิ่งที่เราทำ เราจะแคบมาก เราจะโดนบีบให้ไม่ทำอะไรเลย เพราะต้องตอบสนองวิธีคิดการทำกำไรสูงสุดอย่างเดียว เราจะไม่สามารถทำอะไรที่เราอยากทำได้ เราต้องลืมข้อนี้ไปก่อน แล้วมาถามว่าเราอยากทำอะไร กำไรของชีวิตที่มากกว่าเรื่องเงินคืออะไร มิตรภาพที่เราได้จากการทำงานตีเป็นมูลค่าได้ไหม เวลาที่เราได้คืนมาตีมูลค่าได้ไหม งานที่เราได้ทำแล้วเรารักเราตีมูลค่าได้ไหม ธุรกิจเราไม่ได้ล้มหายตายจาก เรายังสามารถทำต่อไปได้ แสดงว่ามันได้กำไร แน่นอนมันไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่เราได้หลายสิ่งในชีวิตที่เราอยากได้ ซึ่งเราคิดว่ามันมีคุณค่าสำหรับเรา นี่เป็นเหตุผลให้เราทำในสิ่งที่ยังเชื่ออยู่

เหตุผลที่เราเลิกนิตยสาร เพราะนิตยสารมันเป็นแค่กระดาษที่เราพิมพ์ความคิด ทัศนคติ รสนิยมของเราลงไป การที่เราจะรักษากระดาษรักษานิตยสารไว้ ถึงวันนั้นมันอาจจะยังอยู่ แต่ทัศนคติและแนวคิดของเราอาจจะไม่อยู่แล้ว เพราะเราอาจต้องสมยอมกับหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเพื่อรักษากระดาษ วันหนึ่งเราจึงเลือกที่จะรักษาแนวคิดของเราเอาไว้ เพราะเราเชื่อว่ากระดาษมันย่อยสลายได้ แต่ความคิดมันจะไม่ตาย มันจะอยู่ แล้ววันข้างหน้าคนที่มองเห็นความคิดนี้ว่ามันยังอยู่ หรือเขาอาจจะคิดต่างออกไปก็ได้ ก็จะเอาแนวคิดของเราไปใช้สืบเนื่องทำงานต่อได้ ในวันข้างหน้าโลกอาจไม่มีกระดาษ แต่แนวคิดมันยังอยู่ ผมกำลังพยายามจะบอกว่าผมเลือกที่จะรักษาความคิด ไม่ใช่รักษากระดาษ

การทำหนังสือเล่มเป็นการผลิตปัญญาต้นทุนต่ำที่สุดที่สังคมไทยอนุญาตให้ทำได้ ผมไม่สามารถทำแม็กกาซีนต้นทุนสูง ทำหนังสือพิมพ์ใช้ทุนนับร้อยล้านบาท ทำรายโทรทัศน์ก็ต้องซื้อเวลาที่แพงมาก แม้กระทั่งทำรายการวิทยุส่วนมากก็เป็นของทหารของราชการ ปัจเจกชนที่ต้องการทำงานทางด้านปัญญา ต้องการผลิตปัญญาให้แก่สังคมในราคาถูกจะมีช่องทางอะไรบ้างนอกจากเป็นอาจารย์ ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำได้คือเราคัดสรรภูมิปัญญามาทำหนังสือเล่มในราคา ๑๐๐ กว่าบาทที่ทุกคนสามารถซื้อได้ ถ้าห้องสมุดใจดีซื้อไปก็สามารถทำให้คนเข้าถึงปัญญาได้ในราคาต่ำกว่า ๑๐๐ บาทเสียอีก ด้วยการยืมหนังสือจากห้องสมุด นี่เป็นกระบวนการสั่งสมองค์ความรู้ สังคมตะวันตกที่พัฒนามาสู่สังคมสั่งสมองค์ความรู้ได้ เพราะรากฐานมาจากเทคโนโลยีการพิมพ์อันทำให้ความรู้กระจายออกจากกลุ่มคนระดับสูง มาสู่ชนชั้นกลางระดับสูง มาสู่คนชั้นล่าง ความรู้ที่ทั่วถึงในทุกระดับชั้นมันทำให้เกิดการปฏิวัติทางสังคมได้ ผมแค่กำลังทำในสิ่งที่ย้อนหลังไป ๕๐๐ ปีที่สังคมตะวันตกเคยทำ หวังว่าสิ่งเล็กๆ นี้จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสังคมได้

อ่านคำสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่ http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=802

ส่วนหนึ่งก็เข้าใจว่าทำไมเลือกสัมภาษณ์คุณภิญโญ เพราะแนวทางในการทำหนังสือของโอเพ่นก็ไม่ต่างจากสารคดี, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, มูลนิธิโกมลคีมทอง ฯลฯ  หรือสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยมากนัก (อยากจะรวมถึงมูลนิธิตำราสังคมศาสตร์ฯ ด้วย แต่จนใจด้วยราคาแพงกว่าแหล่งอื่นมาก) ขณะเดียวกันคนที่มาร่วมขันกันในโอเพ่นส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ไม่ก็อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ

แม้จะมีข้อถกเถียงว่า ประเด็นนี้เป็นอุดมคติของคนชั้นกลาง (ที่ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร) ที่พร้อมทุกอย่างแล้ว ไม่จำเป็นต้องคำนึงเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าอุดมการณ์ แต่อย่างน้อยความหลากหลายที่ปรากฏอยู่ในแวดวงคนทำหนังสือแบบนี้ คงจะเป็นการจุดประกายให้กับคนรุ่นต่อไปได้บ้าง