วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2551

โครงการวิจัยเพศและการสื่อสารในสังคมไทยระยะที่ 2

รหัสโครงการ : RDG4730022
ชื่อโครงการ : โครงการวิจัยเพศและการสื่อสารในสังคมไทยระยะที่ 2
ชื่อนักวิจัย : วิลาสินี พิพิธกุล และกิตติ กันภัย
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
E-mail Address : Wilasinee.P@thaihealth.or.th
ระยะเวลาโครงการ : 1 มีนาคม 2547 – 28 กุมภาพันธ์ 2549

งานวิจัยเรื่องเพศและการสื่อสารในสังคมไทย (ระยะที่สอง) มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและวิเคราะห์ความหมายเรื่องเพศ วาทกรรมทางเพศ การประกอบสร้างมายาคติทางเพศ รวมทั้งสภาพปัญหาและผลกระทบของการสื่อสารเรื่องเพศในสังคมไทย อันจะนำไปสู่การสังเคราะห์ความรู้เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา ทั้งในระดับนโยบายและระดับการผลิตการสื่อสารเรื่องเพศที่เหมาะสมต่อไป

วิธีวิจัยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพด้วยเทคนิคการวิเคราะห์วาทกรรม การวิเคราะห์การเล่าเรื่อง และการวิเคราะห์สื่อด้วยวิธีสัญญวิทยา ข้อมูลหลักคือตัวบทจากสื่อวารสารสนเทศและสื่อมวลชน ได้แก่ อินเทอร์เน็ต สื่อนิตยสาร สื่อหนังสือการ์ตูน โฆษณาทางโทรทัศน์ ละครโทรทัศน์ และรายการเพลงทางโทรทัศน์ ในช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม พ.ศ. 2547
ข้อค้นพบจากการวิจัยมี 6 ประการหลัก คือ
1. สื่อทุกประเภทที่นำมาศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งโฆษณาสะท้อนมายาคติและวาทกรรมเพศวิถีที่เน้นการโหมเร้าอารมณ์ทางเพศด้วยการเสนอส่วนต่างๆ บนเรือนร่างมนุษย์ โดยเฉพาะเพศหญิงให้กลายเป็นความเซ็กซี่เกินความจริงตามธรรมชาติ มายาคติและวาทกรรมเหล่านี้ปฏิบัติการภายใต้กลไกการสื่อสารการตลาดและกลยุทธ์การโฆษณา ทำให้เกิดภาวะหลงใหลไปตามกระแสมายาคติซึ่งห่างไกลจากความเป็นจริงเกี่ยวกับเนื้อตัวและร่างกายมนุษย์ที่แท้

2. สื่อการ์ตูนแนวรักต่างเพศที่เลือกมาศึกษานำเสนอเรื่องเพศสัมพันธ์ที่โจ่งแจ้งเปิดเผย และเป็นเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้เน้นเรื่องอารมณ์ความรัก แต่เสนอเรื่องการเสพสังวาสอันเกิดจากสัญชาติญาณ ภาวะไร้สำนึก และแรงขับทางเพศของผู้ผลิตสื่อเป็นหลัก สะท้อนโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างสองเพศ อย่างไรก็ตาม สำหรับการ์ตูนแนวรักเพศเดียวกันกลับนำเสนอแก่นเรื่องแนวความรักความผูกพันระหว่างตัวละครมากกว่า

3. วิธีการนำเสนอแบบเอดูเทนเมนต์ของสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งมีลักษณะคล้ายสื่อการสอนแต่ผสมผสานความบันเทิงเข้าไว้ด้วย ทำให้เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้เรื่องเพศที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียนหรือผู้แสวงหาความรู้ทั่วไป เว็บไซด์ยังเป็นสื่อที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงชุมชนเสมือนของกลุ่มคนที่มีเพศวิถีคล้ายคลึงกันอีกด้วย

4. สื่อทุกประเภทนำเสนอเพศวิถีอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะในมิติรสนิยมทางเพศ เพื่อคลี่คลายกรอบของเพศวิถีตามขนบเดิมที่มีเพียงความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายเท่านั้น ทั้งนี้โดยอาศัยกลไกทางการตลาดและโฆษณาที่เน้นการสร้างกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ผ่านระบบสัญลักษณ์และความหมายเฉพาะของกลุ่มทางเพศ

5. ขนบของการสื่อสารและวิธีการเล่าเรื่องในละคร โฆษณา และการ์ตูนทำให้เกิดอำนาจในการดำรงไว้ซึ่งโครงสร้างความสัมพันธ์แบบปิตาธิปไตยที่เพศชายเป็นผู้ชนะเสมอ การเล่าเรื่องในละครเน้นการลงโทษหรือกำจัดตัวละครผ่าเหล่าที่แสดงพฤติกรรมผิดเพี้ยนไปจากเพศสภาพตามที่สังคมชายเป็นใหญ่กำหนด ทั้งนี้เพื่อดำรงความสมดุลของระบบทางเพศเอาไว้

6. ความหมายเรื่องเพศที่จัดว่าเป็นความเชื่อแบบมายาคตินั้น เป็นความหมายที่สังคมรับรู้และห่างไกลจากความจริงไปทุกที มายาคตินี้ถูกกำหนดโดยวาทกรรมว่าด้วยความงามกับเพศสรีระ เพศวิถี และปฏิสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ในเรื่องเพศ การรับรู้บนฐานของมายาคติเช่นนี้จะนำมาซึ่งความรุนแรง การบริโภคที่เกินจริง การมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดศีลธรรม การเสพติดทางเพศ ก่อให้เกิดอวิชชาทางเพศ อันอาจจะนำไปสู่ความเสื่อมและการล่มสลายของมนุษย์และสังคมได้

ผลการวิจัยนำไปสู่ข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับรัฐ สื่อ ภาคประชาชนผู้บริโภคสื่อ และภาควิชาการ ได้แก่ การเตรียมพื้นที่สาธารณะให้เป็นเวทีในการนำเสนอเรื่องเพศที่หลากหลาย กระบวนการไต่สวนวาทกรรมและมายาคติเพื่อรื้อถอนโครงสร้างและชุดความหมายเรื่องเพศเดิม การทบทวนกระบวนทัศน์ หลักปรัชญา และจริยธรรมการตลาด การสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมบนฐานของการสร้างความรู้ใหม่ การเร้าสำนึกของผู้ผลิตสื่อให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนขนบการเล่าเรื่องแบบเดิม กระบวนการสร้างและพัฒนากลไกในการกำกับดูแลกระบวนการสื่อสารเรื่องเพศในสังคมไทย และการสร้างทักษะการสื่อสารให้กับผู้เชี่ยวชาญเรื่องเพศศึกษา

คำหลัก: เพศ การสื่อสารเรื่องเพศ สื่อทางเพศ วาทกรรมเพศ วัฒนธรรมเพศไทย

ที่มา: http://www.trf.or.th/research/abstract/Thai/RDG4730022.txt