วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550
การสัก
การสัก หมายถึง การใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระเครื่องหมาย หรือลวดลาย โดยการสักในแต่ละวัฒนธรรมต่างก็มีความหมายแตกต่างกันไป
ในสังคมกรีก การสักจะทำเฉพาะใบหน้าของทาส และอาชญากร ต่อมาเริ่มแพร่หลายมากขึ้นทั่วทวีปยุโรป จนกระทั่ง ค.ศ. 787 สันตะปาปาฮัดเดรียนที่หนึ่ง ได้ประกาศห้ามผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนาสักบนใบหน้า เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมา การมีรอยสักเช่นนี้จึงเป็นการลบหลู่ต่อพระผู้เป็นเจ้า ตามที่ปรากฏในพระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาเดิม เลวีนิติ (19: 28) เจ้าอย่าเชือดเนื้อของเจ้าเพราะเหตุมีคนตาย หรือสักเป็นเครื่องหมายใดๆ ลงที่ตัวเจ้า เราคือพระเจ้า เนื่องจากการสักมีนัยยะของการหลงใหลที่ก่อให้เกิดความต้องการทางเพศ (fetishism) และการบูชาวัตถุ (worship of idol) ซึ่งเป็นข้อห้ามหนึ่งในบัญญัติสิบประการ
ในประเทศไทย จุดประสงค์ในการสักหลากหลาย เช่น การสักหรือการสักเลกนั้นเป็นการทำเครื่องหมายที่ข้อมือ เพื่อแสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์หรือไพร่หลวงที่มีสังกัดกรมกองแล้ว จนกระทั่งยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนการสักหน้าผาก หรือการสักท้องแขนใช้เฉพาะกับผู้ต้องโทษจำคุก เพื่อประจานความผิดตามกฎมณเฑียรบาล จนยกเลิกไปในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รวมทั้งการสักยันต์เพื่อปกป้องคุ้มครองจากภยันตรายเช่นเดียวกับพระเครื่อง หรือเครื่องรางของขลังอื่นๆ ตลอดจนเมตตามหานิยม
ในญี่ปุ่น การสักหรือที่เรียกว่า Irezumi แปลว่า การเติมหมึกนั้น คาดว่าเริ่มปรากฏในประมาณศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 8 การสักถูกใช้เสมือนการจำแนกและประทับตราคนกลุ่มต่างๆ เช่น เพชฌฆาต สัปเหร่อ อาชญากร จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 การสักแบบ Horibari ที่มีลวดลายประดับประดา (decorative tattoo) ทั่วร่างกายตลอดจนศีรษะ เริ่มปรากฏขึ้นจนกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายใน ค.ศ. 1750 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่พวก eta ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีฐานะทางสังคมต่ำที่สุดในขณะนั้น ลวดลายที่ใช้นิยมนำมาจากจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ตลอดจนเทพต่างๆ ตามความเชื่อทางศาสนา หรือนิทานพื้นบ้าน
ปัจจุบันลายในการสัก สามารถแบ่งออกเป็น แฟนตาซี สไตล์ (เป็นการผสมผสานทุกรูปแบบไว้ด้วยกันตามที่สร้างสรรค์ขึ้น) ทริบอล สไตล์ (มีลักษณะเป็นลวดลายเล็กๆ เช่น เถาวัลย์ ซึ่งมักประดับอยู่บนข้อมือ นิ้ว ข้อเท้า) ยุโรป สไตล์ (เป็นภาพเหมือน สร้างมิติด้วยการลงแสงเงา คล้ายกับภาพเหมือนบุคคล) เจแปน สไตล์ (ลวดลายที่บ่งบอกความเป็นตะวันออก เช่น มังกร ปลาคาร์พ) เวิร์ด สไตล์ (ตัวอักษรหรือคำที่มีความหมายดีๆ) ไกเกอร์ สไตล์ (ลวดลายอยู่ในรูปแบบที่เป็นนามธรรม) รวมถึงรอยสักสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นฮิปฮอป สไตล์ (เป็นลายสักสีสันเน้นโทนคล้ายคลึงกับงานกราฟิตี้ โดยมีทั้งลวดลายที่เป็นตัวอักษรและรูปภาพ) พังก์ สไตล์ (ลายสักที่ไม่เน้นสีสัน แต่เน้นลวดลายสีดำมากกว่า โดยลายที่นิยม ได้แก่ ดาวแฉก และตัวอักษรโบราณ หรือตัวอักษรในคัมภีร์) ฮาร์ดคอร์ สไตล์ (ลวดลายจะใกล้เคียงกันกับพังก์ สไตล์ โดยเน้นโทนสีดำเป็นหลัก ลายมักออกแนวเรียลลิสติก ) อินดี้ สไตล์ (เป็นรอยสักที่ไม่ได้มีรูปแบบชัดเจน ไม่มีอะไรตายตัว ทั้งนี้เพราะขึ้นอยู่กับรสนิยมความชอบส่วนบุคคลเป็นหลัก) เป็นต้น
ขณะเดียวกันการสักอาจจะก่อให้เกิดอันตรายจากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ เช่น impetigo, staph infection, cellulitis ตลอดจนปฏิกิริยาจากสีซึ่งสักลงไปปัจจุบันใช้สารที่นิยมใช้เป็นสีหลายชนิดมักเป็นโลหะหนัก เช่น สารปรอท แร่เหล็ก แร่โคบอลด์ สารเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาบางอย่างโดยเฉพาะสารสีแดง (cinnabar) ของโลหะจะพบได้บ่อยที่สุด
การลบรอยสักมีวิธีการต่างๆ หลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น
- การผ่าตัดออก (SURGICAL EXCISION): เหมาะในรายเป็นรอยสักที่มีขนาดเล็ก หรือเป็นจุดๆ จะได้มีแผลที่มีขนาดเล็ก แต่ในรายที่มีรอยสักขนาดใหญ่ อาจจะใช้ตัวขยายเนื้อ (TISSUE EXPANSION) ช่วยเหลือได้
- การกรอผิวด้วยเครื่องกรอผิว (DERMABRASION): ในรายที่เป็นรอยสักมืออาชีพ การใช้การกรอผิวอย่างเดียว หรือร่วมกับการใช้เกลือแกงบริสุทธิ์จะช่วยให้ได้ผลดี ซึ่งในรายที่สักตื้นๆ การกรอผิวมากกว่าสองครั้งสามารถให้ได้ผลดีแผลเป็นน้อย ซึ่งในการทำครั้งที่สอง ควรจะรอประมาณ 3 ถึง 6 เดือน
- การลอกด้วยสารเคมี (CHEMICAL PELING): มักใช้กรดบางชนิด หรือสาร PHENOL ทำให้เกิดเป็นรอยแผลไฟไหม้ขึ้นบริเวณรอยสัก แต่วิธีนี้มักจะมีผลแทรกซ้อนสูง จึงไม่ค่อยใช้กัน
- การสักเพิ่มขึ้น (OVERTATTOOING OR RETATTOOING)
- การลบด้วยไฟฟ้า (ELECTRIC CAUTERY)
- การลบด้วยเครื่องเลเซอร์ (LASER BEAM): ที่นิยมใช้กันได้แก่ Q-SWITCHEDND-YAG และ Q-SWITCHED RUBY LASER ซึ่งมักจะได้ผลดีในรายที่เป็นสีน้ำเงิน และดำ ซึ่งวิธีนี้ได้ผลดี และมีผลข้างเคียงเช่นกัน ได้แก่ ผิวหนังเป็นรอยริ้ว หรือเป็นรอยด่างขาว
หากเพื่อนๆ คนไหนสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ลองไปตามอ่านบางส่วนเพิ่มเติมได้จาก นิติ ภวัครพันธุ์, 2541. รอยสัก กับการสร้าง ตัวตน ใน ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนัตกูล, บรรณาธิการ. เผยร่าง-พรางกาย: ทดลองมองร่างกายในศาสนา ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และมานุษยวิทยา. โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. หน้า 185 233. นะคะ