ร่างพระราชบัญญัติปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย พ.ศ..... มีนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา และคณะเป็นผู้เสนอ (อ้างอิงจากหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๕๐๓/๔๗๕๑ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐)
คณะรัฐมนตรีฯ ได้พิจารณาร่างพรบ. ดังกล่าวแล้วส่งคืนมายังคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมกับข้อสังเกตดังนี้
คณะรัฐมนตรีเห็นว่าวัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ และมีบทบัญญัติที่ซ้ำซ้อนกับกฏหมายหลายฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เช่น ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๒๘๗ และมาตรา ๒๙๓ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๙๔ พระราชบัญญัติควบคุมเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๓๐ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.๒๕๑๙ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ รวมทั้งร่างกฏหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาได้ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งมีหลักการแก้ไขความผิดเกี่ยวกับการทำให้แพร่หลายหรือการค้าวัตถุหรือสิ่งของลามกให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.... ซึ่งมีหลักการครอบคลุมถึงการปราบปรามเผยแพร่และการค้าวัตถุลามก จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้แต่อย่างใด(อ้างอิงจากหนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๕๐๓/๔๗๕๑ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ และสรุปผลการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๘ วันพฤหัสบดีที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๐)