วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

ข้อสังเกตบางประการที่มีต่อวิทยานิพนธ์ “ความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นแนวชายรักชาย (YAOI) และวิถีทางเพศของวัยรุ่นไทย” ของ ชยภัทร จินดาเลิศ

ข้อสังเกตบางประการนี้ เขียนด้วยมุมมอง (อคติ) ส่วนตัว ดังนั้นไม่สามารถเป็นบรรทัดฐานใดๆ และขอสงวนพื้นที่ในการโต้ตอบในเรื่องนี้ เฉพาะเจ้าตัว (ชยภัทร) เท่านั้น เนื่องจากผู้เขียนเชื่อว่าเป็นผู้ทำวิจัยเอง ย่อมสามารถตอบคำถามเรื่องนี้ได้ดีที่สุด 

เกริ่นนำ

หลังจากที่ไม่ได้สนใจแวดวงวิชาการมานาน แต่เมื่อคิดว่าจะกลับมาเขียนบทความเพิ่มเติม เพราะในวิทยานิพนธ์ของตัวเองนั้นยังมีปัญหาอีกหลายส่วน (ที่จริงแล้วได้เขียนไปส่งรัฐศาสตร์สารเช่นกัน แต่อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา ก็บอกว่าสั้นไปให้ไปเขียนมาเพิ่มเติม แล้วก็ทิ้งร้างไป จนกระทั่งอาจารย์ชุติมา ประกาศวุฒิสารและอาจารย์สายัณห์ แดงกลม ทั้งสองคนพยายามไต่ถามความคืบหน้าเป็นระยะ)

ล่าสุดก็ไปค้นคว้าเพิ่มเติมว่ามีใครในไทยที่ทำเรื่องนี้เพิ่มเติมต่อจากที่ตัวเองเคยรวบรวมตอนทำวิทยานิพนธ์ จนกระทั่งพบว่ามีวิทยานิพนธ์ “ความสัมพันธ์ระหว่างการอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นแนวชายรักชาย (YAOI) และวิถีทางเพศของวัยรุ่นไทย” ของ ชยภัทร จินดาเลิศ ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสหวิชาเพศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาเดียวกันกับของตนเอง (“YAOI: การ์ตูนเกย์โดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง”)

ที่จริงตอนใกล้จบก็ได้ยินมาเช่นเดียวกันว่ามีรุ่นน้องทำในประเด็นนี้ แต่ก็ไม่ได้สนใจ และมั่นใจว่าไม่ได้พูดคุยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลใดๆ แน่นอนว่าการทำวิจัยประเด็นเดียวกันนั้น อาจจะไม่ต้องมีการติดต่อสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน แต่จำเป็นต้องเขียนถึง เพราะเกี่ยวข้องกับการอ้างอิงในส่วนของเนื้อหาที่จะเขียนถึงต่อไป

สิ่งที่ต้องการสำหรับการเขียนข้อสังเกตนี้ ไม่ได้ต้องการบอกว่าวิทยานิพนธ์ของตัวเองนั้น เป็นงานที่ดีที่สุดในการศึกษาประเด็นนี้ เพราะรู้ตัวดีว่ามีปัญหามากมาย เรียกได้ว่า “อาย” ที่จะเอาให้คนอื่นอ่านงานชิ้นนี้เลยทีเดียว หรือแม้กระทั่งจะให้สัมภาษณ์/ แสดงความคิดเห็น แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องการเปิดพื้นที่ให้มีการคำนึงถึง “จรรณยาธรรมในการวิจัย” โดยเฉพาะในส่วนของการกล่าวอ้างอิงถึง (ไม่ได้อ่านต้นฉบับ แต่ทำเสมือนตัวเองได้อ่านเอง มั่นใจได้อย่างไรว่า คนนั้นคัดลอก/แปล/สรุปมาถูกต้อง) หรือแม้กระทั่งการลอกผลงาน (ตัดแปะ/ ทำเสมือนศึกษาด้วยเอง)

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้กำหนดจรรยาบรรณนักวิจัยไว้

1. นักวิจัยต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการนักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น ต้องให้เกียรติ และอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำมาใช้ในงานวิจัยต้องซื่อตรงต่อการแสวงหาทุนวิจัย และ มีความเป็นธรรมเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย (ที่มา: http://rd.vru.ac.th/convention.htm)

ทำไมถึงเป็นเพียงข้อสังเกตบางประการ เพราะไม่ได้รื้อค้นอย่างละเอียด เช่น ค้นว่าบรรณานุกรมทุกตัวที่ถูกอ้างถึงนั้น ได้นำมาใช้ในงานจริงหรือไม่ และใช้ได้ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้จะขอยกเป็นเพียงบางส่วนที่มีอยู่ในมือเท่านั้น

ข้อสังเกตนี้แบ่งออกเป็น 1) คำถามเบื้องต้น 2) ข้อสงสัยที่เหมือน/ แตกต่างจากงานของตัวเอง 3) บทสรุป

1) คำถามเบื้องต้น

1. เนื่องจากงานวิจัยเป็นเชิงปริมาณและมีการอ้างถึง “แบบสำรวจของผู้วิจัยกับกลุ่มที่อ่านการ์ตูนแนวชายรักชายในร้านหนังสือโดยสัดส่วนเทียบจากจำนวน 100 คนได้สัดส่วนของกลุ่มประชากรที่ต้องการสุ่มมีค่าที่ 0.20 (ชยภัทร, 2552: 34)” แต่ไม่มีภาคผนวกในส่วนนี้

ในความเห็นส่วนตัว ยังค่อนข้างมองว่าการหาประชากรที่แท้จริงลำบากมาก เนื่องจาก YAOI นั้นถูกตั้งคำถามว่าเป็นสื่อทางเพศ ดังนั้นแบบสำรวจจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ไม่มีรายละเอียดในส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่และช่วงเวลาในการสำรวจว่าซ้อนทับหรือเกี่ยวเนื่องกับสถานที่/ช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลอย่างไร สถานการณ์ในช่วงเวลาทั้งสองช่วงนั้นมีความเหมือน/แตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกวาดล้างของภาครัฐ/ ภาพที่ถูกนำเสนอในสื่อมวลชน รวมกระทั่งสถานการณ์ของชุมชน YAOI

2.  ประชากรในการศึกษามีทั้งเพศสรีระชายและหญิง (ชยภัทร, 2552: 3, 42)

ในความเห็นส่วนตัว ถึงแม้ว่า YAOI นั้น มีทั้งผู้ผลิต/ บริโภค ทั้งเพศสรีระชาย/ หญิง และในคำจำกัดความที่ใช้ (ชยภัทร, 2552: 4)  นั้นก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นหนังสือที่มีเฉพาะเพศสรีระหญิงเท่านั้น หากแต่ความแตกต่างนี้ไม่ได้กล่าวถึงว่าทำไมต้องวิเคราะห์เพศสรีระชายด้วย เหมือนในกรอบแนวคิด (ชยภัทร, 2552: 40) ก็ไม่ได้ระบุว่าเพศสรีระส่งผลต่อการศึกษาอย่างไร? แล้วกลุ่มความหลากหลายทางเพศทำไมไม่ถูกนำมาศึกษาด้วย? ปัญหาของเพศสรีระชายมีผลต่อการเข้าถึงการ์ตูนหรือไม่?

3. อายุของประชากรที่เริ่มต้นตั้งแต่ 15-17 มีร้อยละ 50.4 ของประชากรที่ศึกษา (ชยภัทร, 2552: 42)

ในความเห็นส่วนตัว หากจะบอกว่าอายุ 15-17 นั้นไม่เหมาะสมกับการเข้าถึงสื่อทางเพศ ก็คงจะเป็นเรื่องตลกมาก ปัญหาในเรื่องนี้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งประเภทการ์ตูนของ YAOI เอง มาตรการควบคุม/ ปฏิบัติทั้งภาครัฐ สังคม และคนภายในชุมชนเอง ซึ่งต้องย้อนกลับไปถึงนิยามของคำว่าสื่อทางเพศว่าแท้ที่จริงคืออะไรกันแน่ แล้วเส้นแบ่งของคำว่าเหมาะสม/ เข้าถึงได้คืออะไร? หากสื่อทางเพศมีแต่แง่ลบต่อสังคมแล้ว ทำไมถึงเกิดขึ้น/ มีอยู่

สิ่งที่น่าเสียดายสำหรับประชากรกลุ่มนี้ คือ ไม่มีข้อมูลรายละเอียดที่น่าสนใจเพิ่มเติม เช่น อายุ 15 แต่อ่าน/ เข้าถึงได้ก่อนหน้านั้นหรือเปล่า? สถานะเป็นเพียงผู้อ่านการ์ตูนแต่เพียงอย่างเดียว หรือสามารถเข้าถึงชุมชนระดับลึกได้มากกว่านี้?  

2) ข้อสงสัยที่เหมือน/ แตกต่างจากงานของตัวเอง

กรณีที่1

ชยภัทร, 2552: 7 ส่วนที่1

 P7P1

ญาณาธร, 2550: 16 ส่วนที่1

PaulP16P1

ในส่วนนี้มีการอ้างอิงถึง แต่ส่วนที่ขีดเส้นใต้ไว้หายไป ซึ่งการตัดต่อเช่นนี้ทำให้เข้าใจว่า การ์ตูน YAOI นั้น “ตลอดจนความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจ” ทั้งที่ความหมายนั้นเป็นการกล่าวถึงการ์ตูน Kuso miso tekunikku ที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างการ์ตูนที่นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้ชายของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น

กรณีที่2

ชยภัทร, 2552: 7 ส่วนที่2

P7P2

ญาณาธร, 2550: 16-17

PaulP16P2 PaulP17P1

ในส่วนนี้ไม่มีการอ้างอิงถึง เสมือนหนึ่งไปอ่านต้นฉบับด้วยตนเอง แต่ภาษาที่ใช้จะเรียกว่าคัดลอกมาเลย แน่นอนว่าในส่วนของบรรณานุกรมมีกล่าวถึงแหล่งข้อมูลเบื้องต้นไว้ครบถ้วน แต่ส่วนที่หายไป คือ เชิงอรรถที่ทำไม YAOI ถึงถูกเรียกว่า เป็นการ์ตูนเกย์โดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง

กรณีที่3

ชยภัทร, 2552: 8, 82

P8 P82

ญาณาธร, 2550: 17-18

PaulP17P2 PaulP18

ในส่วนนี้มีการอ้างอิงถึง โดยตัดในส่วนข้อถกเถียงว่าเรื่องใดเป็น YAOI เรื่องแรกออกไป (กรอบสีแดง) สิ่งที่น่าสนใจ คือ งานของชยภัทรไม่มีเชิงอรรถรายละเอียดของ June นั้น ที่อ้างอิงมาจาก Schodt, 1996 (กรอบสีเขียว) แล้วก็ไม่ได้มีการอ้างอยู่ในความเป็นมาของหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นในไทย (ไม่ได้ค้นหาในส่วนอื่น เนื่องจากคิดว่าไม่น่าจะมีปรากฏในส่วนอื่น) แต่ในบรรณานุกรมกลับมีการระบุถึง Schodt, 1986 ไม่ใช่เล่ม 1996 (รายละเอียดของทั้งสองเล่มอยู่ที่ http://toshokanreview.blogspot.com/2010/01/manga-manga-world-of-japanese-comics.html และ http://toshokanreview.blogspot.com/2010/01/dreamland-japan-writings-on-modern.html )

กรณีที่4

ชยภัทร, 2550: 10, 77

P10 P77

ญาณาธร, 2550: 19

PaulP19

ชยภัทร ได้อ้างอิงถึง นันทขว้าง, 2545 แต่ไม่ปรากฏอยู่ในบรรณานุกรม แต่ที่น่าสนใจที่สุดในกรณีนี้ คือ ตัวเองได้อ้าง นิยพรรณ, 2540 และไม่ได้ระบุเลขหน้า ในส่วนของเชิงอรรถอธิบายคำว่า การรับวัฒนธรรมใหม่ เท่านั้น แต่การอ้างอิงของชยภัทร เสมือนหนึ่งว่า นิยมพรรณได้บอกว่า YAOI เป็นการรับวัฒนธรรมใหม่เข้ามาในสังคมไทย และไม่ได้ระบุเลขหน้าเช่นเดียวกัน (ชื่อ “นิยพรรณ” กลายเป็น “นิยมพรรณ” ไปได้แฮะ)

กรณีที่5

ชยภัทร, 2552: 10, 78, 79

p10p3

p78

p79

ญาณาธร, 2550: 20, 66

PaulP20 PaulP66

ชยภัทร ไม่ได้กล่าวถึง วิริยะ, 2542 และพัฒนา, 2546ก แต่ปรากฏอยู่ในบรรณานุกรม แต่สิ่งที่ตัวเองขำที่สุด คือ พัฒนา, 2546ก กลายเป็น พัฒนา, 2545 ซึ่งหากอ่านเนื้้อหาแล้วจะมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง จากเรื่องวัฒนธรรมกระแสนิยม กลายเป็นเรื่อง คนใน ไปได้ ขณะเดียวกันในส่วนของการอ้างอิง กุลภา ไม่เคยคิดเลยว่าจะสามารถย่อ/สรุปความออกมาเป็นภาษาเหมือนกันตรงทุกตัวอักษร

กรณีที่6

ชยภัทร, 2552: 10-11

p10p3 p11

ญาณาธร, 2550: 21-22

PaulP21 PaulP22

นอกเหนือไปจากว่ากลุ่มคนที่ชื่นชอบ YAOI ในไทยและต่างประเทศมีการรวมกลุ่มและภาษาที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นแล้ว ข้อสรุปว่า วิทยานิพนธ์นี้พยายามศึกษาอะไร ยังใช้ภาษาที่คล้ายกันมากแตกต่างกันเพียงตัวแปรตามเท่านั้นเอง

กรณีที่7

ชยภัทร, 2552: 12

p12

ญาณาธร, 2550: 30-31

PaulP30

PaulP31

ลักษณะการอ้างอิงเหมือนเดิม คือ ไม่มีการใช้ว่า “อ้างอิงมาจาก” ทำเสมือนตัวเองไปอ่านต้นฉบับเอง

3) บทสรุป

หลังจากที่ทอดระยะเวลามาระยะหนึ่ง ยอมรับว่าทำให้ตัวเองมี “สติ” มากขึ้น โดยส่วนตัวก็ยอมรับว่าชยภัทรได้ทำการศึกษาตามระเบียบการวิจัย หากแต่ส่วนที่จำเป็นต้องพาดพิง จนต้องนำมาเขียนลงในบลอคนั้น เนื่องจาก “จรรณยาบรรณในการวิจัย” ที่ทำเสมือนไปอ่านต้นฉบับด้วยตนเอง ไม่มีการระบุว่า “อ้างอิงใน/ อ้างอิงมาจาก” คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าการแปล/ ตีความเหล่านั้นถูกต้อง

ดังนั้น สิ่งที่จะดำเนินการต่อไป นอกเหนือจากการเขียนข้อสังเกตลงในบลอคนี้แล้ว ก็ได้เมล์หาอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองคนก็ได้รับการตอบกลับมาว่า สมควรที่จะทำจดหมายเรียนประธานหลักสูตร/ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของชยภัทรต่อไป ซึ่งผลจะเป็นยังไงก็จะเขียนมาลงในบลอคให้ทราบความคืบหน้าต่อไป

เริ่มเขียน: 07 ม.ค. 57  

ปรับปรุงล่าสุด: 13 ม.ค. 57 

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

คำถามเรื่องเพศในสังคมไทย

คำถามเรื่องเพศในสังคมไทย

[1]

ญาณาธร เจียรรัตนกุล[2]

บทนำ

การศึกษาเรื่องเพศในสังคมไทยมักจะเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศและมิติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเอดส์ ทำให้ประชากรกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแกนหลักในการศึกษาเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น โสเภณี รวมทั้งบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากมายาคติว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นประชากรที่มีความอ่อนไหวและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศและอนามัยเจริญพันธุ์[3] ผู้วิจัยจึงขอนำวิธีการศึกษาเรื่องเพศผ่านคอลัมน์ตอบคำถามเรื่องเพศในนิตยสารและหนังสือพิมพ์เฉกเช่นบทความของวิจิตร ว่องวารีทิพย์ (2542)[4] มาเป็นแนวทางในการศึกษาความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศของผู้คนในสังคมไทยที่นอกเหนือไปจากพฤติกรรมทางเพศและความรู้ทางด้านเอดส์เพียงอย่างเดียว[5]

เรื่องเพศถูกจัดวางให้เป็นเรื่อง ”ส่วนตัว” ของแต่ละบุคคล แต่เหตุใดเราจึงต้องมาปรึกษาถามปัญหากับคนที่เสมือนหนึ่งจะรู้จักและคุ้นเคยในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “สาธารณะ” ดังเช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งอินเตอร์เนต ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนถึงในช่วงเวลาที่เชื่อกันว่าเรามีเสรีภาพในการเลือกทางเลือกต่างๆ ในชีวิตมากขึ้น เรื่องเพศกลับถูกควบคุมด้วยวิธีการที่ซับซ้อนและไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยผู้มีอำนาจในการตัดสินความถูกผิดในเรื่องเพศที่มีความหลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศาสนา สังคม และรัฐ[6]

คอลัมน์ตอบปัญหาเรื่องเพศ ไม่ได้เป็นเพียงเวทีสาธารณะในการปรึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภายใต้สถาบันการแต่งงานระหว่างผู้หญิงและผู้ชายเท่านั้น แต่คอลัมน์เหล่านี้ได้รวมถึงเพศวิถีที่นอกเหนือไปจากสถาบันการแต่งงาน เช่น การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ธุรกิจเรื่องเพศ ตลอดจนความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่สะท้อนความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศของผู้คนในสังคมที่ไม่ได้จำกัดแค่ผู้ถามและผู้ตอบปัญหาเหล่านี้เท่านั้น แต่หากรวมไปถึงอำนาจในการชี้นำความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศให้แก่ผู้ที่ติดตามในช่วงระยะเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

คุณลักษณะผู้ถามและผู้ตอบ

เหตุใดคนที่ถามปัญหาเข้ามายังคอลัมน์ตอบปัญหาเรื่องเพศส่วนใหญ่จึงเป็นเพศหญิงในทุกกลุ่มช่วงอายุ[7] มากกว่าเพศสถานะอื่น เนื่องด้วยสังคมไทยเปิดโอกาสให้กับผู้ชายในการแสดงออก แรงปรารถนาและความพอใจทางเพศผ่านภาษาและพฤติกรรมต่างๆ เช่น การคุยตลก การเล่าประสบการณ์ทางเพศที่ผ่านมาของตน[8] ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือการสื่อสารในเรื่องเพศถูกปิดกั้นด้วยความคิดที่ว่า “ผู้หญิงที่มีความรู้เรื่องเพศนั้นมีอยู่สองประเภท คือ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และพนักงานบริการ”

เพศชายที่เขียนเข้ามายังคอลัมน์ตอบปัญหาจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มอายุ คือ กลุ่มที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่มีอายุ 20 ปีต้นๆ โดยกลุ่มที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปไม่ได้เป็นการเขียนเข้ามาเพื่อปรึกษาปัญหาของตนแต่เขียนเข้ามาในฐานะของผู้ใหญ่ที่ต้องการให้คำแนะนำชี้ทางแก่เด็กๆ ที่อ่านคอลัมน์นี้นั้น หรือไม่ก็แสดงความเห็นหรือสนับสนุนแนวทางการตอบแก่ผู้ตอบปัญหา[9] ส่วนเพศชายที่มีอายุ 20 ปีต้นๆ นั้นมักจะเป็นกลุ่มที่ยังสับสนในแรงปรารถนาและสถานะทางเพศของตนเอง ตลอดจนกลุ่มเพศหญิงทางสังคม[10]

กลุ่มที่เขียนเข้ามาถามน้อยที่สุด คือ กลุ่มของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งอาจเกิดจากพื้นที่ในการศึกษานี้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงโดยตรง เฉกเช่น คอลัมน์ “โก๋ปากน้ำซะอย่าง โดย โก๋ปากน้ำ” ในนิตยสารแปลก ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับกลุ่มหญิงรักหญิง เช่นเดียวกับคอลัมน์ “ชีวิตเศร้าคลี่คลาย โดย โก๋ปากน้ำ” ที่เป็นพื้นที่สำหรับกลุ่มชายรักชาย[11] หรือเกิดจากกระบวนการคัดเลือกจดหมายขึ้นมาตอบและลงตีพิมพ์ว่าคำถามใดจะได้รับการนำเสนอลงในคอลัมน์ดังกล่าว

แม้ว่ากลุ่มผู้หญิงมักจะเป็นกลุ่มที่เขียนเข้ามาถามปัญหามากที่สุด แต่ผู้ตอบปัญหากลับเป็นเพศชายเฉกเช่นคอลัมน์ตอบปัญหาส่วนใหญ่[12] ไม่ว่าจะเป็นคอลัมน์ “ตอบปัญหาหัวใจ โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช” ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ช่วงพ.ศ. 2522, “เสพสมบ่มิสม โดย นพ.นพพร“ ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ช่วงพ.ศ. 2522[13], คอลัมน์ “ศศิวิมลตอบปัญหา โดย ศศิวิมล”[14] ในนิตยสารลลนา ช่วงพ.ศ. 2525, “แล้วเราก็ปรึกษากัน โดย รังรอง”[15] ในนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ ช่วงพ.ศ. 2531 หรือแม้กระทั่งคอลัมน์แม้ว่าในบางสื่อได้มีการปรับเปลี่ยนให้ผู้ตอบปัญหาเป็นเพศหญิง เช่น “กุญแจจันทร์ โดย กฤษณา อโศกสิน” ช่วงพ.ศ. 2540[16]

ปริมาณของผู้ตอบปัญหาที่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ชายเป็นผู้ผลิตและกำหนดวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศในสังคมไทยให้ผู้หญิงปฏิบัติตาม เนื่องจากผู้ชายเป็นเพศที่สังคมคาดหวังว่าจะมีความรู้เรื่องเพศเป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหา ซึ่งองค์ความรู้นี้จะแตกต่างจากความรู้ของแพทย์ที่เป็นความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จนก่อให้เกิดนามแฝงของผู้ตอบปัญหาที่ต้องมีคำว่า “หมอ” ไม่ว่าจะเป็น หมอวันชัย คอลัมน์ “ตอบปัญหาสุขภาพ สุขเพศ” ในผู้จัดการออนไลน์, หมอศิลา คอลัมน์ “ฮอตไลน์สายรัก” ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เพิ่มขึ้นในช่วงพ.ศ. 2545 เป็นต้นมา

ผู้ตอบปัญหาที่เป็นเพศหญิงนั้น นอกจากจะเป็นที่ยอมรับนับถือหรือเป็นที่รู้จักแล้ว จำเป็นต้องมีอายุหรือวัยที่มากพอสมควร[17] ขณะเดียวกันส่วนใหญ่ผู้ตอบปัญหาที่เป็นเพศหญิงนี้มักจะเชื่อมโยงกับนิตยสารที่ถูกเรียกว่า “นิตยสารของผู้หญิง” โดยตรง เช่น คอลัมน์ “ถามมลฤดี” ผู้ตอบ คือ ก.สุรางคนางค์ และกุลทรัพย์ รุ่งฤดี ลงในนิตยสารสกุลไทย[18] ดังนั้นจึงอาจจะกล่าวได้ว่า พื้นที่ในการให้ความรู้เรื่องเพศผ่านคอลัมน์ตอบปัญหาโดยผู้ตอบปัญหาที่เป็นเพศหญิงเช่นเดียวกันนั้น มีลักษณะเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะเรื่องและเน้นไปความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ “สถาบันครอบครัว” ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์และการเลี้ยงดู ปัญหาระหว่างสามีและภรรยา ฯลฯ

ลักษณะปัญหา

ลักษณะคำถามเรื่องเพศในสังคมไทยแตกต่างกันไปในแต่ละยุคและประเภทของสื่อที่มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย ตลอดจนภูมิศาสตร์ของคอลัมน์ตอบปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานภาพของผู้ตอบปัญหาที่เป็น “แพทย์” ทำให้ปัญหาที่มีลักษณะเกี่ยวข้องกับสรีรวิทยา อนามัยการเจริญพันธุ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตลอดจนปัญหาทางด้านจิตใจที่มีจิตแพทย์เข้ามามีส่วนร่วมในการตอบปัญหานอกเหนือจากสูตินารีแพทย์ในการเข้ามาตัดสินว่า “พฤติกรรมทางเพศเหล่านั้นปกติ หรือผิดปกติ” เพิ่มเติมจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างความปรารถนาของตนเองและบรรทัดฐานทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นและจับจ้องมองอยู่[19]

ขณะเดียวกัน “ปัญหาพรหมจรรย์ของผู้หญิง” ที่เป็นวัฒนธรรมที่ประกอบสร้างขึ้นมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์[20] เพื่อควบคุมเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง กลับกลายเป็นปัญหาที่เขียนเข้ามาถามในคอลัมน์สมรสไม่สมรัก โดย นพ.ปุณณ ปารมี ในนิตยสารชีวิตจริง ช่วง พ.ศ. 2546-2550 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้หญิงในต่างจังหวัดและสาวโรงงาน เพียง 3 ราย คือ

หนูไม่เคยร่วมเพศกับใครหรือว่าทำอะไรเลย แต่ทำไมพรหมจารีของหนูถึงขาดได้คะ ตอนนี้หนูแต่งงานแล้ว แฟนหนูเขาเสียใจที่ไม่ได้เปิดพรหมจารี หนูพูดเขาก็ไม่เชื่อ ตอนร่วมเพศกับสามีครั้งแรก หนูรู้สึกเจ็บมากแต่ไม่มีเลือดออกเป็นเพราะอะไรคะ

พวงพร ไม่ระบุอายุ[21]

ผู้หญิงที่เคยผ่านการตรวจภายในมาแล้ว ในอนาคตเมื่อไปมีอะไรกับแฟนแล้วแฟนจะรู้ไหมคะว่าเราเคยไปตรวจมา และเขาจะคิดหรือรู้สึกว่าเราเคยผ่านผู้ชายมาแล้วไหมคะ

ต๋อม อายุ 22 ปี[22]

ปัญหาเรื่องพรหมจรรย์ของผู้หญิงที่ก่อให้เกิดแนวคิด “รักนวลสงวนตัว” ในสังคมไทยที่เร่งรณรงค์กันอยู่ในปัจจุบันนั้น อาจจะเรียกได้ว่า แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่จำกัดอยู่ในชนชั้นกลางมากกว่าชนชั้นอื่น หากแต่การคงอยู่ของปัญหานี้ก็สะท้อนว่าการยึดมั่นในพรหมจรรย์ของผู้หญิงนั้น เป็นปัญหาหลักของผู้หญิงในการยอมรับการตัดสินคุณค่าของตัวเธอจากผู้ชายด้วยเช่นกัน

ปัญหาที่นับว่าเป็นปัญหาหลัก คือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม อันได้แก่ น้ำหนักตัว ไขมันที่สะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย สิวบนใบหน้า ความขาวและความเนียนของผิวพรรณ ตลอดจนความกระชับของช่องคลอด ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงภาวะที่ผู้หญิงต้องมีความเสี่ยงในการบริโภคยาเกินความจำเป็น เพื่อให้มีสรีระตรงตามสมัยนิยม[23]

ปัญหาความวิตกกังวลเรื่องการตั้งครรภ์เนื่องจากไม่พร้อม ซึ่งสะท้อนผ่านปริมาณคำถามที่เกี่ยวข้องกับปัญหาประจำเดือนมาไม่ตรงตามกำหนด ตลอดจนผลกระทบข้างเคียงจากวิธีการคุมกำเนิดต่างๆ นั้น เป็นปัญหาที่เพศหญิงต้องแบกรับควบคู่ไปกับการแสวงหาข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาวัฒนธรรมกามารมณ์แบบไทยๆ กับการใช้ถุงยางอนามัย[24]ที่ทำให้เพศหญิงต้องรับผิดชอบภาระในการคุมกำเนิดมากกว่าเพศชายด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาคุมกำเนิดและยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งทำให้ผู้หญิงมีบริบทเสี่ยงในการบริโภคยาเกินความจำเป็น[25] ตลอดจนความละเอียดอ่อนของการยุติการตั้งครรภ์หากเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาจริงๆ ในสถานการณ์และเงื่อนไขเฉพาะตัวของแต่ละราย[26]

คำถามเรื่องเพศผ่านคอลัมน์ตอบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องพรหมจรรย์ของผู้หญิง ปัญหาความสวยความงาม ตลอดจนปัญหาความวิตกกังวลเรื่องการตั้งครรภ์เนื่องจากไม่พร้อม ซึ่งเป็นปัญหาหลักของพื้นที่ในการศึกษานี้นั้น ล้วนแต่สะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศสถานะและเพศวิถีต่างๆ ในสังคมไทย ตลอดจนความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศที่ยังต้องการแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมอีกมาก

บทส่งท้าย

ข้าพเจ้าได้เคยพูดไว้หลายครั้งหลายหนแล้วว่า ประโยชน์ของปัญหาประจำวันในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ อยู่ที่ตัวปัญหา ไม่ได้อยู่ที่คำตอบ เพราะปัญหาที่ตั้งมานั้นมาจากคนไทยทั่วประเทศ มีฐานะต่างๆ กัน และอาชีพต่างๆ กัน บางคนก็เป็นเด็ก บางคนก็เป็นผู้ใหญ่ และมีทั้งบุรุษและสตรี ตลอดจนผู้อยู่ในเพศสมณะ ปัญหาเหล่านี้จึงเท่ากับเป็นการประมวลความเห็น ความสงสัย และความปรารถนาของคนไทยทั่วไป มาลงไว้ในหน้าหนังสือพิมพ์ นับว่าเป็นความรู้อันสำคัญ หากได้อ่านในระยะเวลาที่มีผู้ตั้งปัญหานั้นๆ มาก็ย่อมจะเป็นประโยชน์เพราะได้รู้ว่าในขณะนั้นคนไทยทั่วไปได้สนใจกิจการอย่างไร และมีความสงสัยกินใจในเรื่องอะไรบ้าง ผู้ที่ได้อ่านปัญหาก็ย่อมจะทันต่อความเคลื่อนไหวในความคิดเห็นของผู้ที่เป็นเพื่อนร่วมโชคชาตาร่วมชาติอยู่เสมอ ... หนังสือเล่มนี้จะใช้เป็นหลักฐานได้ว่าในระยะเวลาระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๓ ถึง พ.ศ.๒๔๙๔ นั้นคนไทยเรามีปัญหาอย่างไรอยู่ในใจ

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช[27]

บรรณานุกรม

กฤตยา อาชวนิจกุล. 2545. ทลายความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องทำแท้ง: มาร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่ซ้ำซากของการตั้งท้องไม่พร้อม. ออนไลน์. [http://midnightuniv.org/midfrontpage/newpage15.html]

กฤตยา อาชวนิจกุล และกนกวรรณ ธราวรรณ. 2548. วิเคราะห์วิธีคิดวิทยาในงานวิจัยเรื่องเพศภาวะและเพศวิถีกับเอดส์ศึกษา. เอกสารไม่ได้ตีพิมพ์.

กฤษณา อโศกสิน (นามแฝง). 2540. คลายปัญหากับกฤษณา อโศกสิน. สำนักพิมพ์สามสี.

กุลทรัพย์ รุ่งฤดี (นามแฝง). 2547. ชีวิตมีคุณค่าก้าวหน้าไกล “สกุลไทย” ก้าวมาห้าสิบปี. สกุลไทย. 2611, 51 (อังคาร 2 พ.ย. 47): ออนไลน์ [http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=3363&stissueid=2611&stcolcatid=2&stauthorid=61]

คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. 2499. ปัญหาประจำวัน ชุดที่สี่. สำนักพิมพ์สยามรัฐ.

คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. 2522. ตอบปัญหาหัวใจ. สำนักพิมพ์สยามรัฐ.

จับเข่าคุย อ. จักรพันธุ์ โปษยกฤต. ไปยาลใหญ่. 4, 37 (เมษายน 2533): ออนไลน์. [http://www.katikala.com/somethingelse/special/chakkapan.html]

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. 2549. เมื่อผู้หญิงคิดจะมีหนวด: การต่อสู้ ‘ความจริง’ ของเรื่องเพศในสภาผู้แทนราษฏร. โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

นายแพทย์นพพร (นามแฝง). 2522. เสพสมบ่มิสม. สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น.

ภัสสร ลิมานนท์. 2544. บทบาทเพศ สถานภาพสตรี กับการพัฒนา. ฉบับปรับปรุง. วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รังรอง (นามแฝง). 2531. แล้วเราก็ปรึกษากัน. แพรวสำนักพิมพ์.

วิจิตร ว่องวารีทิพย์. 2542. เซ็กซ์ชวลลิตี้บททดลองอ่านผ่านคอลัมน์ตอบปัญหาหัวใจ. รัฐศาสตรสาร. 21, 2: 243-272.

ศศิวิมล (นามแฝง). 2532. ศศิวิมลตอบปัญหา. สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.

Chamratrithirong A, Kittisuksathit S, Podhisita C, Isarabhakdi P and Sabaiying. 2007. National Sexual Behavior Survey of Thailand 2006. Institute for Population and Social Research, Mahidol University.


[1] คำถามเรื่องเพศในสังคมไทย เป็นส่วนหนึ่งของงานฐานข้อมูล “แนวทางการรวบรวมและวิเคราะห์คำถามทองเรื่องเพศ” ของโครงการวิจัย “การวิจัยและการพัฒนาฐานข้อมูลเรื่องเพศวิถี เพศภาวะ และสุขภาพทางเพศ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สนับสนุนโดยมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้ประกอบการนำเสนอบทความหัวข้อ “ปฏิบัติการทางสังคมของวิธีคิดเรื่องเพศในสังคมไทย” ในการประชุมวิชาการประจำปีเรื่องเพศวิถีศึกษา ครั้งที่1 วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2551 ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ

[2] ผู้เขียนขอขอบพระคุณร.ศ. ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ให้โอกาสและความเมตตาตลอดมา และศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ให้คำปรึกษาและข้อมูลในหลากหลายมิติ

[3] กฤตยา อาชวนิจกุล และกนกวรรณ ธราวรรณ, 2548 หน้า 70-71

[4] บทความของวิจิตร ว่องวารีทิพย์ เป็นการนำเสนอการศึกษาเซ็กซ์ชวลลิตี้ของชนชั้นกลางผ่านการวิเคราะห์ตัวบทในคอลัมน์ตอบปัญหาหัวใจสามคอลัมน์ ได้แก่ “สาวเอยจะบอกให้ โดย นเรศ นโรปกรณ์” ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ พ.ศ. 2515 “ศศิวิมลตอบปัญหา โดย ศศิวิมล” ในลลนาพ.ศ. 2519 และ “แล้วเราก็ปรึกษากัน โดย รังรอง” ในแพรวสุดสัปดาห์ พ.ศ. 2531

[5] ประเทศไทยมีการสำรวจระดับชาติเรื่องพฤติกรรมทางเพศมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง คือ พ.ศ. 2533, พ.ศ.2535 และ พ.ศ.2549 (Chamratrithirong A, 2007 p.3)

[6] ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2549 หน้า 25-26, 41

[7] วิจิตร ว่องวารีทิพย์, 2542 หน้า 251

[8] วิจิตร ว่องวารีทิพย์, 2542 หน้า 253

[9] วิจิตร ว่องวารีทิพย์, 2542 หน้า 257

[10] วิจิตร ว่องวารีทิพย์, 2542 หน้า 257-258

[11] ปัจจุบันคอลัมน์ตอบปัญหาทั้งสองคอลัมน์นี้ได้ปิดตัวลง ตั้งแต่ฉบับที่ 1493 ปีที่ 31 (ศุกร์ที่ 1 ตุลาคม 2547) เนื่องจากนโยบายกวาดล้างและจัดระเบียบสังคม แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความพยายามรวบรวมสื่อต่างๆ เพื่อจัดตั้งเป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชุมชนความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย โดยโครงการความร่วมมือระหว่างชุมชนเกย์ เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศในประเทศไทย และเอเชียแปซิฟิคเควียร์ (http://www.tqrc.org/data/about.html)

[12] วิจิตร ว่องวารีทิพย์, 2542 หน้า 251

[13] นพ.นพพรได้ตอบปัญหาเรื่องเพศภายใต้ชื่อคอลัมน์ “วิทยาศาสตร์การแพทย์” ในนิตยสารรายสัปดาห์จักรวาล ช่วงพ.ศ. 2512 มาเป็นระยะเวลา 7 ปีและหยุดพักไป 2 ปีพร้อมกับการหยุดลงนิยายของพนมเทียน ต่อมาจึงได้มาเริ่มตอบปัญหาเรื่องเพศอีกครั้งในคอลัมน์ “เสพสมบ่มิสม” ลงในหนังสือพิมพ์รายวันเดลินิวส์ (หมอนพพร, 2522 คำนำ)

[14] นามแฝงของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) (ไปยาลใหญ่, 2533)

[15] นามแฝงของศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (วิจิตร ว่องวารีทิพย์, 2542 หน้า255 เชิงอรรถ13)

[16] ไม่ทราบรายละเอียดของนิตยสารที่ลงคอลัมน์ตอบปัญหานี้

[17] วิจิตร ว่องวารีทิพย์, 2542 หน้า 258-259

[18] กุลทรัพย์ รุ่งฤดี, 2547

[19] วิจิตร ว่องวารีทิพย์, 2542 หน้า 255

[20] วิจิตร ว่องวารีทิพย์, 2542 หน้า 262-264; กฤตยา อาชวนิจกุล และกนกวรรณ ธราวรรณ, 2548 หน้า 69-70

[21] ชีวิตจริง ฉบับที่ 874 ปีที่ 28 (1-10 มี.ค. 49) หน้า 46

[22] ชีวิตจริง ฉบับที่ 909 (21-28 ก.พ. 50) หน้า 48

[23] ภัสสร ลิมานนท์, 2544 หน้า 138-140

[24] กฤตยา อาชวนิจกุล และกนกวรรณ ธราวรรณ, 2548 หน้า 72

[25] ภัสสร ลิมานนท์, 2544 หน้า 138-140

[26] อ่านเพิ่มเติมที่ กฤตยา อาชวนิจกุล, 2545

[27] คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว. 2499 คำนำ

 

หมายเหตุ:

บางส่วนอยู่ในหนังสือ คำถามยอดฮิตในคอลัมน์ถามตอบเรื่องเพศ